ทุกวันที่ 12 ก.พ.ของทุกปีตรงกับวันสหภาพของพม่า ซึ่งเป็นที่ทางนายพลอองซานได้ร่วมกับผู้นำชาติพันธุ์กลุ่มต่าง ๆ ได้ลงนามสัญญาป๋างโหลง เพื่อก่อสร้างประเทศในระบอบสหพันธรัฐและเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษเมื่อปี ค.ศ.1947 ในปีนี้ครบรอบวันสหภาพ 71 ปี สำนักข่าวอิรวดีได้สัมภาษณ์ตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ โดยมีเสียงสะท้อนออกมาว่า แม้การลงนามสัญญาป๋างโหลงเพื่อให้ชาติพันธุ์มีสิทธิเสมอภาคเท่าเทียมเช่นเดียวกับคนพม่าจะล่วงเลยมาเข้าสู่ปีที่ 71 แล้วก็ตาม แต่กลุ่มชาติพันธุ์ยังคงเป็นพลเมืองชั้นสอง พลเมืองชาวพม่ายังคงมีบทบาทอำนาจในด้านการเมืองและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ พันเอกหน่อบู โฆษกของกองทัพเอกราชะฉิ่น KIA เผยว่า เขารู้สึกเหมือนกลุ่มชาติพันธุ์พื้นเมืองเป็นพลเมืองชั้นสองของประเทศ
โดยระบุว่า มีความรู้สึกหลากหลายเกี่ยวกับวันสำคัญทางการเมืองอย่างวันสหภาพ เนื่องจากอาจเป็นเพราะยังไม่มีเสรีภาพ ยังไม่มีความเสมอภาคเท่าเทียม และรวมทั้งอาจเป็นเพราะยังไม่บรรลุสิทธิในด้านการเมือง ขณะที่สัญญาหยุดยิงที่ดำเนินมายาวนาน 17 ปีระหว่างกองทัพพม่าและกองทัพเอกราชคะฉิ่น KIA ต้องขาดสะบั้นลงเมื่อปี 2554 ทำให้เกิดความขัดแย้งและสงครามระหว่างทั้งสองฝ่ายทางตอนเหนือของประเทศเรื่อยมา และส่งผลให้ชาวคะฉิ่นมากกว่า 100,000 คน ต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่นภายใน วันสหภาพเริ่มต้นมาจากเมื่อปี ค.ศ.1947 ทางกลุ่มชาติพันธุ์อย่างคะฉิ่น ไทใหญ่ และชินได้ลงนามสัญญาป๋างโหลงกับนายพลอองซาน บิดาของนางอองซาน ซูจี การลงนามของผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์ในครั้งนั้นมีความหวังว่า การลงนามจะนำไปสู่ความเสมอภาคให้กับประชาชนของตนเอง อย่างไรก็ตามฝันนี้ต้องพังลง เพราะในความเป็นจริง หลังกองทัพพม่ายึดอำนาจ ได้ทำการกดขี่ข่มเหงประชาชนชาติพันธุ์แทนที่จะให้ความเสมอภาค ภาพโดย สำนักข่าว S.H.A.N. ทางด้านนายอู เป ตาน จากพรรคแห่งชาติอาระกัน (Arakan National Party) เผยว่า กลุ่มชาติพันธฺุ์เชื่อในนายพลอองซานว่าจะให้ความเสมอภาคหลังได้รับเอกราช โดยยังกล่าวว่า สหภาพเป็นแค่ในนามเท่านั้น เพราะยังไม่มีสหภาพที่แท้จริง “ชาวพม่าได้ปกครองประเทศนี้รุ่นแล้วรุ่นเล่า และยังมีบทบาทอยู่ มันสำคัญที่สหภาพควรเหมือนกับต้นไม้ มีความเท่าเทียมกันทั้งหมด อยู่กันเหมือนแบบพี่น้อง ไม่ควรเลือกปฏิบัติกับบางกลุ่ม เราควรอยู่แบบชุมชนเดียวและมีสิทธิเท่าเทียมกันทั้งหมด” นายอู เป ตาน ยังระบุด้วยว่า มีคนบางส่วนที่พยายามสู้ภายใต้กฏหมายโดยการจัดตั้งพรรคการเมือง แต่บางส่วนก็ต่อสู้เพื่อคนของตัวเองและสิทธิทางการเมืองโดยการจับปืนขึ้นมาสู้ “เรากำลังสู้กับสงครามการเมืองในประเทศนี้ การปฏิเสธเรื่องสิทธิของชาติพันธุ์ยิ่งแต่จะทำให้ประเทศพัฒนาได้ช้าลง” ทั้งนี้ พม่าได้เริ่มกระบวนการปฏิรูปการเมืองในประเทศในปี 2553 หลังจากตกอยู่ภายใต้เงื้อมมือของกองทัพเป็นเวลากว่า 50 ปี และมีกลุ่มติดอาวุธ 8 กลุ่มจากทั้งสิ้น 21 กลุ่มที่ได้รับการยอมรับได้มาลงนามหยุดยิงกับรัฐบาลเต็งเส่ง และหลังการเข้ามาบริหารประเทศของรัฐบาล NLD ในปี 2558 หลังชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย นางอองซาน ซูจีได้จัดการประชุมป๋างโหลงใหม่เพื่อเจรจาทางการเมืองกับกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ และในที่ประชุมสัญญาป๋างโหลงได้มีมติเห็นด้วยที่จะเสนอแก้รัฐธรรมนูญปี 2551 (2008) ที่ทหารร่างขึ้น และด้วยเหตุนี้เองกลุ่มการเมืองและกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธเองต่างก็ได้พยายามที่จะร่วมทำงานกับรัฐบาลของนางซูจี ที่ได้ชื่อว่าเป็นรัฐบาลที่มาจากประชาธิปไตย อย่างไรก็ตาม โอกาสที่ทางกลุ่มชาติพันธุ์หรือรัฐบาล NLD จะบรรลุตามเป้าหมายได้หรือไม่ยังไม่แน่ชัด เนื่องจากขณะนี้ทหารก็ยังคงมีบทบาทและมีอำนาจอยู่ “เราเคยจับปืนสู้มาหลายปี เพื่อให้ได้มาซึ่งสหภาพที่แท้จริง แต่ก็ไม่ได้มา ดังนั้นเราจึงเข้ามาบนเส้นทางในวิถีทางประชาธิปไตย และร่วมทำงานกับรัฐบาล NLD เพื่อสร้างสหภาพที่แท้จริง แต่เราก็ยังไม่แน่ใจว่า ประชาธิปไตยแบบไหนที่เรามีอยู่ในประเทศตอนนี้ หรือแม้กระทั่งไม่ทราบว่า เรามีสหภาพที่แท้จริงแล้วหรือไม่” พันเอกจายอู จากสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน/กองทัพรัฐฉาน RCSS/SSA กล่าวแสดงความคิดเห็น และเมื่อพูดถึงสิทธิเสรีภาพของชาติพันธุ์ พันเอกจายอูกล่าวว่า กลุ่มชาติพันธุ์ก็ยังไม่มีสิทธิในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของตัวเองได้ เนื่องจากรัฐบาลพม่าก็ยังควบคุมทุกอย่าง ภาพโดย สำนักข่าว S.H.A.N. “เราไม่สามารถยอมรับว่านี่เป็นสหภาพที่แท้จริง เพราะรัฐบาลเอาทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ที่พวกเขาควบคุมไปหมดเลย เนื่องจากพวกเขาเป็นคนกลุ่มใหญ่ พวกเขาควรที่จะแบ่งทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้” พันเอกจายอูกล่าว ด้านนักวิเคราะห์การเมืองไทใหญ่มองว่า หากรัฐบาลพม่า กองทัพตั้ดมะด่อว์ รวมไปถึงกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ สามารถปฏิบัติตามหลักการของสัญญาป๋างโหลงที่ทำไว้เมื่อปี 1947 เชื่อว่าจะทำให้การเมืองพม่ามีสันติภาพและมั่นคงได้ระยะยาว แต่หากไม่สามารถทำตามได้ การเมืองในพม่าก็จะวุ่นวายเหมือนที่เกิดขึ้นเมื่อ 71 ปีที่ผ่านมา ขณะที่มีรายงาน วันสหภาพในปีนี้ ในหลายพื้นที่ได้ร่วมจัดงานวันสหภาพ เช่น เมืองป๋างโหลง ทางใต้ของรัฐฉาน ซึ่งเป็นเมืองประวัติศาสตร์ที่ผู้นำในอดีตได้ลงนามสัญญาป๋างโหลง และเมืองแห่งนี้ยังเป็นที่ตั้งของอนุเสาวรีย์ป๋างโหลง อีกด้านหนึ่งทางประธานาธิบดีอูถิ่นจ่อได้กล่าวสุนทรพจน์เรียกร้องให้คนในชาติ กลุ่มชาติพันธุ์มีความเชื่อใจกันเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาสงครามการเมืิอง ความขัดแย้งในประเทศ ที่มา Irrawaddy/Mizzima แปลและเรียบเรียงโดย สำนักข่าวชายขอบ SHARE.
ขอขอบคุณแหล่งข่างจาก – สำนักข่าวชายขอบ : http://transbordernews.in.th/home/?p=18374 .