ป.ป.ส. ร่วม ทหาร ตำรวจ ปกครอง ลงพื้นที่ตัดฟันทำลายไร่ฝิ่น อ.ปาย

 

 

 วันที่ 22 มกราคม 2561 เวลา 10.30 น. นายศิรินทร์ยา สิทธิชัย เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (เลขาธิการ ป.ป.ส.) พร้อมด้วย พล.ต.จิตติวัศร์ ศรสุวรรณ์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการ กองบัญชาการเฉพาะกิจ ศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กองทัพภาคที่ 3 และหน่วยเฉพาะกิจกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 นายประจวบ อาจารพงษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน พ.ต.อ.พศวีร์ โชติเทียนชัยวัต รองผู้บังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 5 นายชลัยสิน โพธิเจริญ      รองเลขาธิการ ป.ป.ส. นางทิพาพร ทัศนภักดิ์ ผู้อำนวยการสถาบัน​สำรวจและติดตามการปลูกพืชเสพติด และอดีตผู้บริหารสำนักงาน ป.ป.ส. ร่วมติดตามผลการดำเนินการสำรวจและควบคุมพืชเสพติด พร้อมทั้งร่วมตัดฟันทำลายฝิ่นของกลุ่มผู้ที่ลักลอบปลูก พื้นที่กว่า 1 ไร่ ณ พื้นที่ตำบลโป่งสา อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน

การสำรวจพื้นที่ลักลอบปลูกฝิ่นในประเทศไทย โดยสำนักงาน ป.ป.ส. เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2522 ช่วงแรกเป็นไปอย่างยากลำบากเนื่องจากคมนาคมที่ไม่สะดวก รวมทั้ง ยังพบว่าผู้ลักลอบจะย้ายพื้นที่แปลงปลูกฝิ่นเสมอ สำนักงาน ป.ป.ส. จึงได้ให้สถาบันสำรวจและติดตามการปลูกพืชเสพติด ดำเนินการสำรวจและติดตามสถานการณ์การลักลอบปลูกฝิ่น รวมทั้งประสานการตัดทำลายกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กองทัพภาคที่ 3 กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 3 และศูนย์ปฏิบัติการต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติดจังหวัด/อำเภอ ส่งผลให้การตัดทำลายฝิ่นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบกับความเข้มงวดและจริงจังของมาตรการปราบปรามยาเสพติดของรัฐบาล ทำให้นายทุนและผู้ปลูกเกรงกลัว พื้นที่ลักลอบปลูกฝิ่นลดลงอย่างมาก โดยเปรียบเทียบจากห้วงปี 2545-2546 ซึ่งมีพื้นที่ปลูก 5,265.58 ไร่ และในปี 2559-2560 ลดลงมาเหลือเพียง 1,885.02 ไร่

แนวโน้มสถานการณ์การปลูกฝิ่นในปีนี้ พบว่าพื้นที่ปลูกฝิ่นลดลงเนื่องจากสาเหตุสำคัญ ดังนี้

  1. สภาพอากาศค่อนข้างแปรปรวน ส่งผลทำให้พื้นที่ปลูกฝิ่นลดลง

2.ความเข้มงวดและจริงจังของการควบคุมพื้นที่ปลูกฝิ่น: หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมพื้นที่ปลูกฝิ่น มีมาตรการเฝ้าระวังอย่างเข้มงวดจริงจังในพื้นที่ปลูกหนาแน่น โดยมีการลาดตระเวนป้องปรามการปลูกฝิ่นในห้วงก่อนการเตรียมพื้นที่ปลูกและการประชาสัมพันธ์เชิงปฏิบัติการทางจิตวิทยาเกี่ยวกับกฎหมาย/โทษของการปลูกฝิ่นและพืชเสพติดชนิดอื่น

3.ประสิทธิภาพของการตัดทำลายพื้นที่ปลูกฝิ่น ใช้กำลังพลมากดำเนินการตัดทำลายเพื่อให้มีประสิทธิภาพที่สุด

4.ความเข้มงวดจริงจังด้านการใช้มาตรการทางกฎหมาย

5.บทบาทของสื่อและการประชาสัมพันธ์เพื่อสนับสนุนการควบคุมพื้นที่ปลูกฝิ่น: มีการประชาสัมพันธ์ และใช้สื่อเพื่อรณรงค์ถึงพิษภัยของฝิ่นและโทษตามกฎหมายโดยใช้ภาษาชนเผ่า ซึ่งส่งผลให้การดำเนินงานป้องปรามการปลูกฝิ่นมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

6.การบูรณาการการทำงานกับหน่วยงานต่าง ๆ : โครงการหลวง โดยโครงการขยายผลโครงการหลวงเพื่อแก้ปัญหาการปลูกฝิ่นอย่างยั่งยืน ซึ่งเน้นมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตพื้นฐานและส่งเสริมอาชีพให้กับชาวเขาผู้ปลูกฝิ่น เพื่อให้ผู้ปลูกฝิ่นมีอาชีพสุจริตในการดำเนินชีวิต

ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยยังมีการลักลอบปลูกฝิ่นอยู่ รูปแบบของการปลูกนั้นมีทั้งปลูกเพื่อใช้เสพในครัวเรือนและเพื่อเป็นการค้าในพื้นที่โดยมีนายทุนคอยให้การสนับสนุน พื้นที่ปลูกจะมีขนาดแปลงเล็กลงแต่จะมีการกระจายตัวอยู่ในบริเวณเดียวกันหลายแปลง แต่พื้นที่ปลูกจะอยู่ห่างไกลและกันดารยิ่งขึ้น เช่น บริเวณพื้นที่สูงใน อำเภออมก๋อย อำเภอแม่แตง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ และ อำเภออุ้มผาง อำเภอแม่ระมาด อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก

นายศิรินทร์ยา สิทธิชัย เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวว่า “จากการสำรวจพื้นที่ปลูกฝิ่นในปีนี้ พบว่าลดลงจากปี 2560 มากกว่าร้อยละ 40 เนื่องจากความเข้มงวดและจริงจังของการควบคุมพื้นที่ปลูกฝิ่นและด้านการใช้มาตรการทางกฎหมาย ประกอบกับสภาพอากาศค่อนข้างแปรปรวนส่งผลทำให้พื้นที่ปลูกฝิ่นลดลง เห็นได้จากผลการสำรวจทางอากาศและภาคพื้นที่ดินพื้นที่การลักลอบปลูกฝิ่นตั้งแต่กันยายน 2560 – มกราคม 2561 (ข้อมูล ณ วันที่ 19 มกราคม 2561) พบมีการลักลอบปลูกฝิ่นโดยชาวเขาในพื้นที่ภาคเหนือ 4 จังหวัด 9 อำเภอ รวมพื้นที่ทั้งสิ้น จำนวน 313 แปลง พื้นที่ 212.41 ไร่ โดยแยกเป็นรายจังหวัดที่มีการลักลอบปลูกฝิ่น คือ จังหวัดเชียงใหม่ 168 แปลง พื้นที่ 119.53 ไร่ จังหวัดตาก 84 แปลง พื้นที่ 62.83 ไร่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน 22 แปลง พื้นที่ 12.49 ไร่ จังหวัดเชียงราย 39 แปลง พื้นที่ 17.56 ไร่ จากจำนวนดังกล่าวได้ดำเนินการตัดทำลายไปแล้ว 210 แปลง 149.66 ไร่ คิดเป็น ร้อยละ 70.46  และยังคงเร่งดำเนินการสำรวจพื้นที่ปลูกฝิ่น และจัดทำแผนที่เป้าหมายร่วมกับหน่วยที่รับผิดชอบดำเนินการตัดทำลายอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในวันนี้ ป.ป.ส. ได้ร่วมกับ ทหาร ตำรวจ ปกครอง ลงพื้นที่อำเภอปายเพื่อตัดฟันทำลายไร่ฝิ่นขนาดพื้นที่ 1,808 ตารางเมตร หรือ 1.13 ไร่

ข่าวจาก -นิวัตร ธาตุอินจันทร์./เชียงใหม่

แหล่งข่าวจาก – โกดำ คมชัด AEC TV ออนไลน์

Loading

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *