วิเคราะห์บทบาทจีน เมื่อมังกรเลื้อยลงใต้ ผ่านมุมมองดร.ยศ สันตสมบัติ

แม่น้ำโขงตอนบนไหลจากจีน ผ่านพม่า ลาว เข้าสู่พรมแดนไทยที่สามเหลี่ยมทองคำ ตั้งแต่ต้นธาร ณ ที่ราบสูงทิเบต-ชิงไห่ ลัดเลาะอยู่ในจีนกินความยาวกว่าครึ่งของตลอดสายนทีแห่งนี้ ซึ่งมีความยาวทั้งสิ้น 4,909 กิโลเมตร ปัจจุบันแม่น้ำโขงตอนบนถูกแปลงสภาพเป็นขั้นบันไดเนื่องจากการสร้างเขื่อนในจีนที่ดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้ว 8 เขื่อน จากจำนวนแผนงานทั้งหมด 15-21 โครงการ นับตั้งแต่ปี 2539 ที่เขื่อนมานวานซึ่งเป็นเขื่อนแห่งแรกสร้างเสร็จในมณฑลยูนนาน และมีการกักเก็บน้ำ จวบจนปัจจุบันได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบนิเวศของแม่น้ำโขงอย่างใหญ่หลวง ขณะเดียวกันนโยบายมุ่งลงใต้ของพญามังกร ทำให้เกิดการลงทุนขนานใหญ่ล่องมาตามลำน้ำโขง และบ่อยครั้งที่เกิดการเผชิญหน้าและเบียดขับกับชุมชนท้องถิ่น เนื่องจากโครงสร้างอำนาจที่ตัดสินใจยังกระจุกตัวอยู่ในระดับบน คือระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาล หรือรัฐบาลต่อทุนขนาดใหญ่ ขณะที่ชุมชนท้องถิ่นซึ่งเป็นเจ้าของทรัพยากรดั้งเดิมแทบไม่เคยได้ร่วมกำหนดชะตากรรมของตัวเอง ทั้งๆ ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ดังนั้นจึงเกิดแรงต้านทานเพิ่มขึ้นทุกที ชุมชนริมแม่น้ำโขงของไทยและเพื่อนบ้านต่างตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกัน นับตั้งแต่จีนสร้างเขื่อนเสร็จสิ้นและสามารถควบคุมแม่น้ำโขงตอนบนได้เบ็ดเสร็จ วิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวบ้านที่พึ่งพาอาศัยอยู่กับแม่น้ำโขงได้ต่างรับผลกระทบกันถ้วนหน้า ทั้งเรื่องการเพิ่ม-ลดของน้ำที่ไม่เป็นไปตามฤดูกาล ซึ่งทำให้ปฎิทินชีวิตของชาวบ้านเปลี่ยนแปลง เช่นเดียวกับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ทั้งฝูงปลา ฝูงนก ไก และพืชผักริมน้ำ ต่างมึนงงและสับสนในวัฏจักรใหม่ที่ไม่เคยแน่นอน น่าสนใจในวันที่ 10 มกราคม 2561 นายกรัฐมนตรีของไทยและผู้นำประเทศลุ่มน้ำโขงจะประชุมร่วมกันในหัวข้อ

“แม่น้ำสันติภาพและการพัฒนาที่ยังยืนของเรา” พร้อมกับมีการรับรองในแผนปฎิบัติการระยะ 5 ปีภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ซึ่งหัวข้อสวยหรูและแผนปฎิบัติการใหม่นี้ ก็ไม่มีส่วนผสมทางความคิดหรือการส่วนร่วมของคนริมโขงอีกเหมือนเคย ชาวบ้านจึงได้แต่ลุ้นว่าจะมีผลกระทบใดๆตามมาอีกหรือไม่ ล่าสุดการที่ทุนจีนได้รับสัมปทานพื้นที่ขนาดใหญ่ในเมืองโขง แขวงจำปาสักของลาว ยิ่งเป็นเรื่องน่าจับตาและน่าวิเคราะห์ถึงยุทธศาสตร์เลื้อยลงใต้ของพญามังกรมากขึ้น เพราะบริเวณดังกล่าวถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของแม่น้ำโขง เพราะนอกจากยังคงมีความอุดมสมบูรณ์ไว้มากที่สุดแล้ว ยังเป็นพื้นที่รอยต่อที่สำคัญของ 3 ประเทศก่อนที่แม่น้ำโขงจะไหลเข้าเขมรและไหลต่อไปยังเวียดนาม ก่อนหน้านี้จีนได้ส่งเรือสำรวจเข้ามาเก็บข้อมูลเพื่อพัฒนาเส้นทางเดินเรือพาณิชย์ โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีไทย ทำให้กลุ่มชาวบ้านริมโขงต่างลุกขึ้นคัดค้านเพราะเชื่อว่าเป็นปฐมบทของ “โครงการระเบิดแก่ง” ซึ่งเป็นระบบนิเวศสำคัญในแม่น้ำโขง แต่เมื่อปลายปี 2560 นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีกว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทย ได้ประกาศออกมาว่าโครงการนี้อาจยกเลิก เพราะจีนต้องการมอบเป็นของขวัญปีใหม่ให้คนไทย การเลื้อยลงใต้โดยมีเศรษฐกิจที่อิงการเมืองเป็นตัวเบิกร่องของจีน จึงเป็นเรื่องที่สังคมไทยควรร่วมกันวิเคราะห์ ขณะที่รัฐบาลในลุ่มน้ำโขง ทั้งเขมร ลาว พม่าและไทยยังคุ้นชินอยู่กับระบบ “จิ้มก้อง” ที่ดำเนินมานานหลายศตวรรษ ในมุมของศ.ดร.ยศ สันตสมบัติ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้เขียนหนังสือมังกรหลากสีและอีกหลายเล่มซึ่งเจาะทะลุหลังม่านไม้ไผ่ได้ถึงกึ๋น มองการเคลื่อนตัวของพญามังกรว่าเป็นเรื่องน่าคิด เพราะปัจจุบันจีนได้ไปสร้างฐานทัพเรือขึ้นที่กัมพูชาซึ่งเป็นฐานทัพเรือใหญ่ของจีน เกี่ยวข้องกับ one belt one road ด้วย สร้างเสร็จแล้ว ติดสีหนุวิลล์ โดยอยู่ในยุทธศาสตร์สร้อยไข่มุกของจีน “ผมเชื่อว่าเขาคงไม่สนใจเรื่องการลำเลียง (ผ่านแม่น้ำโขง) สักเท่าไหร่ แต่เขาอาจต้องการมีกองกำลังที่สามารถควบคุมตรงนี้ได้ ดูกรณีของนายหน่อคำ ที่สังหารลูกเรือจีน 13 ศพเป็นตัวอย่าง เขาต้องส่งคนมาจัดการเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของเขา” เมื่อถามว่าทำไมแม่น้ำโขงไม่ได้รับความสนใจจากจีนยุคโบราณ ในการขนสินค้า หรือทางทหาร แต่ปัจจุบันจีนกลับให้ความสำคัญกับแม่น้ำโขงมาก “อาจมีคำตอบ 2-3 อย่าง 1. สมัยก่อนคนจีนมีโรคกลัวบางอย่าง กลัวทางใต้ คนจีนไม่ลงมา เพราะมองว่าแถวนี้มีแต่คนป่าอาศัยอยู่ เป็นพวกไม่มีอารยธรรม 2. มีโรคภัยไข้เจ็บชุก โดยเฉพาะโรคมาลาเรียที่คนจีนกลัวมาก หากดูประวัติศาสตร์สมัยก่อนจะไม่มีจีนลงมาต่ำกว่าเขตลี่เจียง เพราะเริ่มร้อนและยุงเยอะ สมัยก่อนเขาอพยพทางทะเล เป็นคนจีนโพ้นทะเล แต่สมัยนี้ไม่ต้องกลัวแล้วก็เลยมากันทางบก จริงๆ ผมก็ไม่แน่ใจเหตุผลคืออะไร เป็นข้อสันนิฐานเท่านั้น สมัยก่อนโจรชุมด้วย “บันทึกพวกทูตที่ไปจิ้มก้องซึ่งถูกปล้น จนเป็นสาเหตุที่ไทยยกเลิกไปถวายดอกไม้เงินดอกไม้ทองให้จีนตั้งแต่รัชกาลที่ 4 แต่เขาไม่ปล้นตอนขาไปนะ ปล้นขากลับ แสดงว่าไอ้ที่เราเอาไปไม่สนใจ แต่ขากลับได้จากจีนเยอะกว่า อันนี้เป็นลักษณะปกติ” ศ.ยศบอกว่า การที่กษัตริย์จีนสมัยก่อนต้องการให้ผู้ปกครองในดินแดนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่งเครื่องบรรณาการนั้น มีความสำคัญต่อการเมืองภายในของจีน เพราะทำให้บารมีของฮ่องเต้แผ่ไปไกล แม้แต่ประเทศไกลๆ ก็ยังสวามิภักดิ์ เช่นเดียวกับเมื่อเวลาฝรั่งมา จีนก็บอกว่ามาจิ้มก้องตลอด บันทึกของจีนบันทึกว่าฝรั่ง พวกหัวแดง โปรตุเกส มาคำนับฮ่องเต้ของเรา สถาปนาความเป็นศูนย์กลางของแผ่นดินได้ “ถามว่าจีนให้น้ำหนักกับภูมิภาคนี้เพิ่มขึ้นจากในอดีตมั้ย เราต้องดูว่ากำลังพูดถึงจีนส่วนไหน นโยบายที่มาจากรัฐบาลกลาง หรือรัฐบาลท้องถิ่น เช่น คุนหมิง กวางสี แตกต่างกัน เช่น ยูนนานกับกวางสีก็แข่งกันว่าใครจะค้ากับอาเซียนมากกว่ากัน รัฐบาลเขาก็ปล่อยให้แข่งกันไป การแข่งขันทางเศรษฐกิจทำได้อย่างเสรี แต่อย่าแข่งทางการเมืองก็แล้วกัน เวลาที่พูดถึงการลงทุนจีน ก็ต้องดูว่ามาจากรัฐบาลกลาง หรือรัฐวิสาหกิจ หรือรัฐบาลมณฑล เอกชน หรือลงทุนร่วมจากเอกชนและรัฐ ต้องแยกแยะให้ดี “กรณีระเบิดแก่งแม่น้ำโขง บริษัทที่ได้รับสัมปทานเข้ามา คิดว่ารัฐบาลที่คุนหมิงน่าจะได้ประโยชน์ เพราะตอนนี้การคุมระบบอุทกวิทยา (แม่น้ำโขง) อยู่ในมือรัฐบาลยูนนาน ทางมณฑลกวางสีอาจไม่สนใจเลยด้วยซ้ำกรณีนี้ เขาจะไปสนใจเส้นทางบกที่ต่อกับเวียดนามมากกว่า เวลาดูจีนต้องแยกให้ดีว่ามาจากไหน ผมคิดว่า (เรื่องระเบิดแก่ง) น่าจะไม่ต้องขึ้นไปถึงระดับกรรมการพรรคด้วยซ้ำไป อาจจะอยู่ในระดับกรรมการพรรคระดับมณฑล แล้วเรื่องก็ส่งไปรัฐบาลกลางให้ endorse (ลงชื่อ)” เมื่อถามว่าพื้นฐานความคิดของคณะผู้ปกครองจีนในยุคนี้ยังเหมือนเดิมหรือไม่ ดร.ยศกล่าวว่า “มันก็คือราชวงศ์ใหม่ ก็คือพรรคคอมมิวนิสต์ แต่มีลักษณ์ใหม่คือ เปลี่ยนฮ่องเต้ทุก 8 ปี เพราะจีนไม่คุ้นกับระบอบอื่น ห้าพันปีนี้คือระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาตลอด เป็นราชวงศ์ต่างๆ ที่ผลัดกันขึ้นมาถือครองแผ่นดิน ไม่จำเป็นต้องฮั่นด้วย แมนจู มองโกลก็ได้ แต่ตราบใดที่รัฐเอาขนบของจีน คนจีนถึงเน้นวัฒนธรรม สิ่งที่แข็งมากคือวัฒนธรรม” การหลั่งไหลของชาวจีนที่มุ่งลงใต้มาตามลำน้ำโขงกำลังเป็นที่จับตามอง โดยเฉพาะการสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษขนาดใหญ่ในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในประเทศลาวซึ่งมีการให้สัมปทานเช่าที่ดินยาวนานถึง 99 ปีในพื้นที่นับหมื่นๆ ไร่ “จุดอ่อนหนึ่งของจีน ไม่ใช่แค่ผมพูดคนเดียวนะ แต่เขาวิจารณ์กันทั่วโลก คือเขาไม่เคยสนใจธรรมชาติแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นแม่น้ำสายไหน มองเห็นเป็นเพียงบ่อน้ำไปหมด แม่น้ำโขงของเราจีนก็มองเป็นบ่อน้ำ ไม่สนใจปลา ไม่สนใจระบบนิเวศน์ คุณมาพูดหรือยกเหตุผลว่าแก่งเป็นที่อยู่ของปลา จีนไม่สนใจหรอก เขาสนใจเพียงว่าจะขายของได้รึเปล่า เป็นวิธีคิดที่เป็นเทคโนเซนทริก ที่สุดโต่ง อเมริกันก็เป็นแต่ยังคำนึงถึงสภาพแวดล้อมมากกว่าจีน อุทกวิทยาจีนสนใจแค่ว่าจะควบคุมอย่างไร “จีนเน้นวัฒนธรรมที่เหนือกว่าธรรมชาติ หลายชาติ หลายภาษาที่คิดแบบนี้ ทั้งดัชต์ ที่มองว่าธรรมชาติต้องควบคุมได้ เยอรมัน ญี่ปุ่น ก็คิด จีนคิดแบบนี้ก็ไม่แปลก แต่สุดโต่งที่ไม่ฟังใคร อาจจะมองว่าไม่มีเหตุผลพอให้เขาเปลี่ยนวิธีคิด แล้วเวลาที่เราพูดถึงความเสียหาย ระบบนิเวศน์ จีนไม่ค่อยสนใจ เป็นจุดอ่อนสำหรับคนที่ต่อต้านจีนแล้วไปพูดเรื่องระบบนิเวศน์ เพราะจีนไม่แคร์หรอก จะต่อรองกับจีนต้องทำให้เห็นว่าไม่คุ้มที่จะลงทุนอย่างไร คุณจำได้ไหมปี 2008 ที่มีการระเบิดแก่งและหยุดที่สามเหลี่ยมทองคำ ตอนนั้นก็ประท้วงใหญ่ ที่สำเร็จไม่ใช่เพราะท้องถิ่นเข้มแข็ง แต่เพราะจีนกำลังจัดโอลิมปิค เขากลัวถูกบอยคอต เครือข่ายเพื่อนฝูงทั่วโลกพูดถึงประเด็นนี้ เพราะ 2008 เป็นโอกาสเปิดประเทศจีนสู่โลก เขาก็เลยหยุดไป 9 ปี” หลายคนรู้สึกแปลกใจทั้งๆ ที่โครงการระเบิดแก่งแม่น้ำโขงมีความอ่อนไหวเรื่องการปักปันเขตแดนระหว่างไทยกับลาว ทำให้รัฐบาลพลเรือนในยุคก่อนหน้านี้ตัดสินใจยุติ โดยขณะนั้นฝ่ายความมั่นคงโดยเฉพาะทหารก็ออกมาคัดค้านอย่างเต็มที่ แต่ในปัจจุบันที่รัฐบาลทหารปกครองประเทศไทยกลับมีมติยอมให้จีนเข้ามาสำรวจแม่น้ำโขงซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการระเบิดแก่งในน่านน้ำไทย “ต้องดูพม่าเมื่อปี 1988 โลกต่างไม่คบรัฐบาลทหารพม่า มีแต่จีนเท่านั้นที่คบ ยุคเริ่มต้นของรัฐบาลชุดนี้ก็ตกอยู่ในสถานะแบบนั้นนะ เดิมทียุโรปเขาไม่คบกับเรา อเมริกาก็มีแต่บีบ แถมอิทธิพลของบริษัทขนาดใหญ่ของไทยที่เป็นลูกเจ๊กทั้งนั้นเลย พวกนี้ได้ประโยชน์จากการคุยกับจีน คบค้ากับจีนมากกว่า โอกาสที่รัฐบาลทหารจะขัดใจจีนค่อนข้างน้อย” “คุณสังเกตมั้ยเรื่องระเบิดแก่ง ลาวไม่มีปากเสียงเลย รัฐบาลลาวฉลาดกว่า ดูนโยบายซิ เขาพยายามหันไปหาคนอื่นเพิ่มขึ้น ลดความผูกพันลง ตอนนี้ (สัมปทาน) ลดลงจาก 99 ปี เหลือ 50 ปี แต่ของเรายังร้อยปีเหมือนเดิม” ดร.ยศหยิบยกกรณีความความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลพม่ากับจีนขึ้นมาเปรียบเทียบให้เห็นโดยอธิบายว่า สมัยก่อนรัฐบาลพม่าถูกบีบจนหน้าเขียว ช่วงก่อนเต็งเส่ง พม่าถูกบีบเยอะมาก จะสร้างโน่นสร้างนี่ตลอด แล้วพม่าก็มีเงื่อนไข เช่น เรื่องกลุ่มชาติพันธุ์ ที่สามาถทำสนธิสัญญากับบริษัทจีนได้โดยตรง แม้ว่ารัฐบาลพม่าจะไม่พอใจแต่ก็ทำอะไรไม่ได้ อย่างการค้าอัญมณีระหว่างคะฉิ่นกับจีน ซึ่งเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่จีนยอมเข้ามายุ่งเกี่ยวกับกิจการภายในประเทศอื่น คือ กรณีการสู้รบกันระหว่างรัฐบาลพม่ากับคะฉิ่น เพราะจีนคิดว่าถ้ารบกันการลงทุนของเขาเดือดร้อนแน่ จีนจึงเข้ามาเป็นตัวกลาง เรียกทหารคะฉิ่นกับพม่ามาคุย แต่นับจากนายพลเต็งเส่งขึ้นมา เขาก็พยายามที่จะบาลานซ์ “คำว่าบาลานซ์สำคัญมาก สำหรับภูมิภาคนี้ เพราะประเทศเราเป็นประเทศเล็ก การที่รัฐบาลทหารไปอยู่กับจีนมากจนเกินไปมันอึกอัด และทำให้ประเทศอึดอัด แล้วมันทำให้ประโยชน์ของชาติเสียหาย ทำให้ทางเลือกของบ้านเราน้อยลง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการค้า การลงทุน ก็ไม่มี และคุณก็มานึกว่าเดี๋ยวทุนจีนก็มา เขาไม่มาหรอก หรือมาก็ไม่ได้มาแบบที่จะมาทดแทนการลงทุนของต่างชาติทั้งหมดได้ “คุณไปเอาไข่ใส่ตะกร้าใบเดียว ไม่มีใครเขาทำกันในโลก แล้วคุณก็ตกอยู่ในภาวะที่ต้องพึ่งพิงจีนมากขึ้นเรื่อยๆ และจีนเป็นชาติที่ถ้าเขาได้เปรียบ เขาเป็นนักฉวยโอกาสที่เก่ง ไปว่าเขาก็ไม่ได้ คนของเราโง่เอง เมื่อเขาได้เปรียบเขาก็จะฉวยโอกาส แม้กระทั่งเรื่องเงินกู้ ไปกู้เงินจากจีนแพงกว่าที่อื่นตลอด ญีปุ่นนี่ดอกถูกกว่า แต่ทำไมกู้จีน นี่เป็นคำถามที่ต้องถามนักธุรกิจ ฉลาดนักแต่ประเด็นแค่นี้คิดไม่ออก” เมื่อถามถึงจีนโพ้นทะเลที่กระจายตัวทั่วโลก ซึ่งในประเทศไทยเองระบบเศรษฐกิจต่างถูกนำพาโดยกลุ่มนี้เป็นส่วนใหญ่ “ผมคิดว่ามันเป็นสภาวะข้ามชาติ มีความผูกพันกับประเทศแม่และประเทศที่เป็นบ้าน แล้วจีนเองก็มีปัญหานี้เยอะ เพราะคนที่ไหลออกไม่ได้รักชาติทั้งหมด จีนพยายามสร้างอุดมการณ์ชาตินิยม หลังๆ เราเห็นความสำเร็จ ชาวจีนอายุ 40 ปีลงมาชาตินิยมจ๋ามาก เพราะถูกล้างสมองด้วยตำรา เขาถูกข่มขืนโดยญี่ปุ่นและฝรั่ง คนป่าพวกนี้ทำให้เขาล้าหลัง หายไป 1 ศตวรรษ กลายเป็นศตวรรษแห่งความอับอายในปลายราชวงศ์ชิงถึงปี 1840- 1949 ช่วงสงครามฝิ่น “ความระส่ำระสายในประเทศ ราชวงศ์อ่อนแอ การเมืองอ่อนแอ ต่างชาติรุกราน คนไม่รักชาติ เลยกระตุ้นให้คนจีนปลูกฝังว่ามีหน้าที่ต้องบำรุงประเทศ ต้องทำงานให้ประเทศชาติ และที่สำคัญคือบอกว่า จีนอยู่ที่ไหนก็เป็นจีน เกิดในยุโรป คุณก็เป็นจีน เป็นพลเมืองทางวัฒนธรรม อาศัยความผูกพันตรงนี้ในการสานต่อความสัมพันธ์ จีนทุ่มเงินเยอะมากในการตั้งสมาคมจีน ในประเทศต่างๆ สถาบันขงจื๊อ ทุ่มเงินเพื่อทำให้คนเชื้อสายจีนหันกลับมาภูมิใจในความเป็นจีน เอาลูกหลานจีนในยุโรป ไทย กลับไปเยี่ยมบ้านเกิดของบรรพชน แล้วจัดฉากเห็นความเจริญของจีน ทำโครงการความร่วมมือ เพื่อการค้า การวิจัย จีนไม่สนใจว่านักวิชาการจีนไหลออกไปเรียนต่างประเทศ ให้ทุนไปสอนที่ไหนก็ได้ ขอแค่กลับมาเยี่ยมบ้านบ้าง นโยบายพวกนี้ถือว่าฉลาดมาก ไม่มีใครสู้จีนได้ มีคนจีนในประเทศอยู่ 1,500 ล้านคน แต่นอกประเทศอีกรู้กี่ร้อยล้านคน ไม่มีใครหยุดเขาได้ มีอินเดียที่จะหยุดได้ แต่อินเดียนอกจากฉลาดแล้วยังสู้ไม่ได้ ฉลาดจริง แต่วินัย ความทุ่มเท ไม่ค่อยมี “ผมคิดว่าจีนในด้านหนึ่งคุณหยุดเขาไม่ได้ คุณก็ควรเรียนรู้ที่จะใช้ประโยชน์จากเขาให้มากที่สุด ในขณะเดียวกันก็ปรับปรุงตัวเองให้ได้ ให้ทัน คิดอย่างนี้ก็แล้วกันว่า จีนใหม่ก็ไม่ได้เลวร้ายไปกว่าซีพีหรอก แต่เราต้องไปทำกรอบ ระเบียบของเราให้มันชัดเจน ดูตัวอย่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) เมื่อตอนหนัง Lost in Thailand ฉายใหม่ๆ ในหนังก็ไม่ได้มี มช.  มาจากไหนกันไม่รู้ แต่มีคนจีนเข้ามาเที่ยวและแต่งชุดนักศึกษากันมากมาย มากอดมาจูบตามตึกต่างๆ และถ่ายรูป มากินข้าวโรงอาหาร บางทีเดินเข้ามาในห้องเรียนก็มี วุ่นวายมาก จนกระทั่งต้องปิดมหาวิทยาลัยแล้วจัดระเบียบ ดูว่าเป็นจีนก็ยอมให้นั่งรถพาเที่ยว ปัญหาจึงหาย คือเราต้องไปจัดการ” “ตอนนี้ปัญหาเรื่องคนจีนมีเยอะมากที่ไทยต้องจัดการ ผมคิดว่าเราต้องจัดการทรัพยากรในแบบนี้ ทำอย่างไรให้มีผลประโยชน์ร่วม การมองเขาเป็นศัตรูนั้นไม่สร้างสรรค์ คนไทยมันสะใจเวลาด่าคนอื่น เหมือนเป็นวัฒนธรรมไทย แต่เป็นวัฒนธรรมที่ไม่สร้างสรรค์” ดร.ยศกล่าวว่า อีกประเด็นที่ควรมีการเจาะลึกคือเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษของเรา เพราะลึกๆ แล้วเขตเศรษฐกิจพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นที่แม่สาย เชียงของ หรือแม่สอด อีกหน่อยจะกลายเป็นของจีนหมด เขาใช้นอมินี เช่าถูกมาก 99 ปี พวกเจ้าสัวนี่ตัวดีเลย จีนปลูกกล้วย เจ้าสัวรีบบอกว่าดี เข้ากันเป็นปี่เป็นขลุ่ย ตนเคยไปสำรวจคร่าวๆ เป็นจีนจากยูนนานเข้ามาทำสวนกล้วย “เขตเศรษฐกิจพิเศษ ไม่มีที่ไหนเลยที่บอกว่าจะทำอะไร มีที่เดียวที่ค่อนข้างเข้าใจได้ง่าย คือแม่สอด โดยเอาแรงงานจากพม่าเข้ามาทำงานแล้วก็ไม่ต้องรับผิดชอบการรักษาพยาบาลอะไรให้ลูกจ้าง แล้วสามารถขูดรีดราคาได้ ที่แม่สายก็ชัดว่าจะขายของกัน จริงๆ ไม่ใช่เขตเศรษฐกิจพิเศษด้วยซ้ำไป มันคือตลาด แต่เราไปเรียกซะหรูเลยว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษ ทุนท้องถิ่นถูกหลอก คุณไม่มีทางแข่งกับเขาได้ พวกหอการค้าระดับจังหวัดอีกหน่อยจะร้องไห้กันหมด” เมื่อถามว่าดูเหมือนนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษบ้านเรา ไม่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติเท่าที่ควร ศ.ยศกล่าวว่า เคยถามสภาพัฒน์ฯ ว่าคืออะไร เขาก็ตอบไม่ได้ เพราะไม่รู้จะทำนโยบายอะไร เพราะเอกชน 2-3 รายก็ชงไป นี่คือกระบวนการยึดทรัพย์ของท้องถิ่นไปให้นายทุนเข้าไปยึดทรัพย์โดยง่ายเท่านั้นเอง เอาที่ดินมาก่อน แล้วอย่างอื่นค่อยว่ากันทีหลัง “มันคือกระบวนการเตะหมูเข้าปากหมา แล้วเราก็เอาสิ่งที่ดีมาทำให้เลว ผมพูดตลอดแม้กับสภาความมั่นคงแห่งชาติว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษมันคือจุดแข็งของจีน แต่คุณไม่ไปเรียนรู้จากเขา จีนที่โตก้าวกระโดดทุกวันนี้เพราะรู้จักใช้เขตเศรษฐกิจพิเศษ แต่ต้องชัดว่าจะทำอะไร ต้องศึกษาเสียก่อน นี่คือสิ่งที่เราต้องเรียนรู้จากจีนให้มาก จีนทำอะไรเขาจะให้คนไปศึกษาก่อน แต่เรามีมั๊ย รัฐบาลไทยให้ทุนนักวิจัยมาสำรวจมั๊ย จีนมีนโยบายที่วางบนฐานของข้อมูลชัดเจนมาก ข้อมูลเตรียมล่วงหน้า ก่อนทำเขตเศรษฐกิจพิเศษเป็นสิบปีในแต่ละแห่ง แล้วนโยบายมุ่งยกระดับผลิตภาพ ไม่ใช่ของสินค้านะ แต่ของผู้คน “ดูง่ายๆ ที่เสินเจิ้น เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีหน้าที่เดียวคือทำไอที ทำชิปโทรศัพท์คอมพิวเตอร์ด้วยแรงงานราคาถูก แต่ขณะเดียวกันยกระดับผู้เชี่ยวชาญจีน ส่งไปเรียนรู้การถ่ายทอดเทคโนโลยีจากโทรศัพท์ต่างๆ ที่มาจ้างเขาประกอบ ทั้งในไต้หวัน อเมริกา เมื่อ 10 ปีก่อน โทรศัพท์หัวเหว่ย ราคาสองหมื่นกว่าบาท เราเคยคิดว่าโทรศัพท์จีนตอนนั้นน่าเอาไปขว้างหัวหมา แต่เดี๋ยวนี้ไม่ใช่นะของเขามีคุณภาพ นี่คือเขตเศรษฐกิจพิเศษจีน ยกระดับคนให้เป็นผู้ประกอบการ “เวลามันพูดถึงเขตเศรษฐกิจพิเศษเชียงของ เราเคยพูดมั๊ยว่าคนเชียงของจะเป็นอะไรต่อไปในอนาคต จะเป็นผู้ประกอบการด้านไหน โลจิสติกมั้ย แต่จะมาทำโลจิสติกตอนนี้ช้าไปแล้ว เพราะจีนคุมหมด แม้กระทั่งบริษัทใหญ่ๆ ในเชียงใหม่ตอนนี้ก็สู้จีนไม่ได้ สินค้าจีน ผลไม้ต่างๆ แตงโม ลำไย ขึ้นรถจีนกลับหมด ไม่ได้ใช้โลจิสติกไทยเลย เรื่องพวกนี้ด่าจีนไม่ได้ต้องด่าตัวเอง”

ขอขอบคุณแหล่งข่าว – สำนักข่าวชายขอบ : http://transbordernews.in.th/home/?p=18131 .

Loading

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *