“เราไม่เคยยอมรับ และมีส่วนร่วมในภารกิจของรัฐบาลพม่า แต่เราจะเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพกู้ชาติดอยไตแลง” อารมณ์ของเพื่อนร่วมทางชาวไตลุกโชนทุกครั้งเมื่อบทสนทนาแตะไปถึงอำนาจการปกครองของพม่า แม้จะอยู่ในยุคของนางอองซาน ซูจีครองอำนาจ และไม่เห็นกองกำลังทหารพม่าพลุกพล่านเหมือนในอดีต แต่เมื่อมองเห็นสภาพแวดล้อมของเมือง หมู่บ้าน เหมือนย้อนอดีตภาคเหนือของไทยไปราวสามถึงสี่สิบปี และลึกเข้าไปพวกเขายังถูกกดทับด้วยอำนาจรัฐ เมื่อกางแผนที่ออกมาดูพบว่าความเป็นรัฐดั้งเดิมของฉานสเตท มีพื้นที่ราว 155,801 ตารางกิโลเมตร หรือ 97,375,625 ไร่ เทียบเคียงกับพื้นภาคเหนือของไทย เป็นรัฐที่กว้างใหญ่ในพม่า มีประชากรราว 16 ล้านคน พื้นที่รัฐฉานอยู่ในลุ่มน้ำสาละวิน-ลุ่มน้ำโขง ชายแดนตะวันออกริมฝั่งโขง ทะเลสาบอินเลทางทิศตะวันตกลงมาทางใต้ เขตรัฐฉานติดต่อกับอาณาจักรล้านนา ในอดีตมีประวัติศาสตร์เกี่ยวพันกัน ทำผู้คนตระกูลไตมีวิถีวัฒนธรรมใกล้เคียงกับชาวบ้านพื้นที่ภาคเหนือในปัจจุบัน
หากสืบค้นประวัติศาสตร์เบื้องต้นของรัฐฉาน “เมิงไต” คือแผ่นดินที่ความอุดมสมบูรณ์ในทางนิเวศน์วัฒนธรรมมาหลายพันปี มีการปกครองแบบเจ้าฟ้า เป็นรัฐที่มีเอกราช อิทธิพลเหนือพม่า รวมถึงการช่วยเหลือดูแล เมื่อพม่ามีความแข็งแกร่ง การต่อสู้ได้เริ่มต้นขึ้นระหว่างเมืองไตกับพม่าในยุคกษัตริย์บุเรงนองกับเจ้าฟ้าเมืองไต หลายเมืองจึงเริ่มสูญเสียให้แก่พม่า พ.ศ.2305 รัฐฉานตกเป็นเมืองขึ้นยุคกษัตริย์อลองพญา พร้อมกับศูนย์เสียระบอบการปกครองแบบเจ้าฟ้า ต่อมา 1 มกราคม พ.ศ.2428 อังกฤษยึดการปกครองจากกษัตริย์พม่า มาเป็นประเทศในอาณานิคม และประกาศยึดเมืองไตเป็นเมืองใต้อารักขาโดยให้เจ้าฟ้าในแต่ละเมืองปกครองกันเอง ทำให้เมืองไตกลับมามีสถานะเหนือพม่าอีกครั้ง 25 มกราคม พ.ศ.2485 ญี่ปุ่นขยายอิทธิพลเข้าสู่เอเชียในสงครามมหาเอเชียบูรพา ได้ขอให้รัฐบาลไทยในยุคจอมพล ป.พิบูลสงครามยึดเชียงตุงเขตรัฐฉานคืนจากกองทัพก๊กมินตั๋ง นำโดยจอมพล เจียงไคเช็ค และยกให้ไทยเป็นสหรัฐไทยเดิมหรือจังหวัดไทยใหญ่ หลังญี่ปุ่นพ่ายแพ้สงคราม อังกฤษกลับมาผนวกเป็นส่วนหนึ่งของพม่าในปีพ.ศ.2489
พ.ศ.2490 พม่าเจรจาเกลี้ยกล่อมชนกลุ่มน้อย รัฐชิน รัฐคะฉิ่น รัฐฉานเข้าร่วมขบวนการกอบกู้เอกราชจากอังกฤษ เกิดการลงนาม ณ เมืองปางโหลง “สัญญาปางโหลง” หนึ่งในสัญญาคือแยกเอกราชให้รัฐต่างๆ ภายในสิบปี หากได้รับเอกราช การต่อสู้ภายในเริ่มต้นอีกครั้งในปีพ.ศ.2502 เมื่อเจ้าฟ้าถูกคุกคามจากกองทัพพม่า ให้สละอำนาจ จนกระทั่งนายพลอองซานผู้มีแนวคิดค่อยๆ กลืนรัฐเป็นสหภาพพม่าถูกลอบสังหาร นายพลเนวินเข้ายึดอำนาจฉีกสัญญาปางโหลง เกิดการละเมิดสิทธิอย่างรุนแรงต่อประชาชนในรัฐพันธะสัญญา จึงเกิดกองกำลังกู้ชาติของกลุ่มชาติพันธ์ในทุกรัฐ รวมถึงกองกำลังกู้ชาติไตใหญ่ ผมเห็นแววตา..ของเพื่อนร่วมทางบ่งบอกถึงความหวังสู่สันติภาพ-เอกราชชาวไต การพูดถึงจุดร่วม สหพันธรัฐในยุคอองซาน ซูจีอย่างมีความหวัง ในขณะที่โครงการสร้างทางการเมืองในการพัฒนาประเทศ อำนาจยังอยู่ในรัฐส่วนกลาง และอาการเคร่งขรึมของกองทัพ ความคิดหลากหลายของชนกลุ่มน้อยที่ยังต้องแสวงจุดร่วม แต่เห็นความคลี่คลายที่เชียงตุง-เมืองยอง คนในท้องถิ่นมีกรรมการเมือง มีโรงเรียนวัฒนธรรมเมืองไต ชุมชนชนปกครองตนเองตามวิถี แต่การเดินทางเข้าเมืองของคนนอกยังต้องคงต้องของอนุญาตจากศูนย์กลางระดับจังหวัด ลึกเข้าเขตรัฐฉานในช่วงเวลาสั้นๆ แต่มีเรื่องราวอันหลากหลายทำให้ชวนคิดชวนฝัน สองข้างทางเห็นการฟื้นตัวของสภาพผืนป่าที่เคยผ่านการสัมปทานในยุคอังกฤษ ต่อเนื่องถึงยุคมณฑลพายัพ และผู้รับเหมาจากไทยระหว่างการสร้างเส้นทางท่าขี้เหล็ก-เชียงตุง ไฟฟ้าครัวเรือนที่ปั่นจากลำห้วยใสๆ ตลาดเช้ามีสินค้าท้องถิ่นทั้งของคนพื้นราบ และคนบนภูเขา ท้องทุ่งกว้างใหญ่ไพศาลในที่ราบลุ่มแม่น้ำยอง-แม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง ป่าลึกด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้เมืองยอง ได้รับคำบอกเล่าจากหลวงพ่อวัดบ้านกอม คือที่ตั้งของเมืองยองเก่า เหมือนเมืองลับแล หากเข้าไปจะเกิดปรากฏการณ์แวดล้อม เหมือนมีผู้คนอยู่อาศัย ชายแดนรัฐฉานซึ่งมีแม่น้ำโขงเป็นแนวเขตระหว่างเชียงรุ่ง-เขตปกครองพิเศษประเทศจีน มีความยาว 30 เมตร ชายแดนระหว่างประเทศลาว 234 กิโลเมตร ยังเป็นพื้นต้องห้ามในการเข้าถึงของคนนอก เนื่องจากอยู่ในเขตอิทธิพลของกองกำลังว้า การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในพม่า ยังคงมีเรื่องท้าทายระหว่างอำนาจเก่าของกองทัพ การเจราจายุติการใช้อาวุธของกองกำลังชนกลุ่มน้อย ปัญหาการละเมิดสิทธิชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ การพัฒนาประเทศภายใต้รัฐชุดใหม่จากหลายโครงการที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน เช่น เหมืองหยกในรัฐคะฉิ่น เขื่อนพลังไฟฟ้าในลุ่มน้ำสาละวิน เขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ฯลฯ รัฐฉาน ”เมิงไต” ผู้คนหลากเผ่าราว 30 กลุ่มชาติพันธุ์ เพียงแต่ชาติพันธุ์ไทขืนมีจำนวนประชากรเป็นหลัก มีภาษาพูดและอักษรล้านนาแบบเดียวกับภาคเหนือตอนบน เราสามารถสื่อสารกันประหนึ่งญาติพี่น้อง ในแผ่นดินเดียวกัน “แม้เมิงไตยังอยู่ในอำนาจของพม่า แต่คนไตยังมีเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ที่เป็นบ้านเป็นเมืองของคนไตเช่นกัน” บทสนทนาส่งท้ายก่อนเดินทางกลับข้ามแดน
////// โดย สมเกียรติ เขื่อนเชียงสา /////////.
ขอขบคุณแหล่งข่าวจาก – สำนักข่าวชายขอบ : http://transbordernews.in.th/home/?p=18114 .