…ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๔๗ บัญญัติว่า “เด็กเกิดจากบิดามารดาที่มิได้สมรสกัน จะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายต่อเมื่อบิดามารดาได้สมรสกันในภายหลัง หรือบิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตร หรือศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร”
กล่าวคือ บุตรนอกสมรสจะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายก็ต่อเมื่อ
- บิดามารดาได้สมรสกันในภายหลัง
- บิดาได้จดทะเบียนว่าเด็กเป็นบุตร (จดทะเบียนรับรองบุตร)
- ศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร
กรณีตามข้อ 1.
—บิดามารดาของเด็กไปจดทะเบียนสมรสกัน เด็กจะเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของบิดาโดยมีผลย้อนหลังไปนับแต่วันที่เด็กเกิด
กรณีตามข้อ 2.
—บิดาจดทะเบียนรับรองบุตร การจดทะเบียนรับรองบุตรที่ถูกต้องนั้น สามีต้องไปทำการจดทะเบียนรับรองบุตรกับนายทะเบียนที่สำนักงานเขตหรือที่อำเภอ ***โดยมารดาเด็กและเด็กต้องให้ความยินยอม (เด็กต้องพูดให้ความยินยอม หากเด็กยังเล็กมากไม่สามารถให้ความยินยอมได้ ก็อาจใช้สิทธิทางศาลโดยยื่นเป็นคำร้องต่อศาลขอให้ศาลมีคำสั่งแทนคำยินยอมของเด็ก)
กรณีตามข้อ 3.
—ศาลพิพากษาว่าเด็กเป็นบุตร
ให้มีผลย้อนหลังไปนับแต่วันที่เด็กเกิด
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๖๔ บัญญัติว่า “บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์”
มาตรา ๑๕๙๘/๓๘ “ค่าอุปการะเลี้ยงดูระหว่างสามีภริยา หรือระหว่างบิดามารดากับบุตรนั้นย่อมเรียกจากกันได้ในเมื่อฝ่ายที่ควรได้รับอุปการะเลี้ยงดูไม่ได้รับการอุปการะเลี้ยงดูหรือได้รับการอุปการะเลี้ยงดูไม่เพียงพอแก่อัตภาพ ค่าอุปการะเลี้ยงดูนี้ศาลอาจให้เพียงใดหรือไม่ให้ก็ได้ โดยคำนึงถึงความสามารถของผู้มีหน้าที่ต้องให้ ฐานะของผู้รับและพฤติการณ์แห่งกรณี”
ดังนั้น เมื่อสามีไม่ส่งเสียเลี้ยงดูบุตร ควรดำเนินการฟ้องศาลขอให้สามีรับเด็กเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย และเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรไปในคราวเดียวกัน
คำพิพากษาที่ 9017/2538
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อปี 2526 โจทก์กับจำเลยได้อยู่กินฉันสามีภริยา มีบุตรด้วยกัน 1 คน คือเด็กชายจิรายุ อาระยะกุลอายุ 3 ปี ต่อมาโจทก์เคยบอกกล่าวให้จำเลยไปจดทะเบียนรับเด็กชายจิรายุเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย แต่จำเลยเพิกเฉย จำเลยมีหน้าที่ต้องร่วมอุปการะเลี้ยงดูเด็กชายจิรายุ ซึ่งจำเลยเคยจ่ายเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูเพียงปีเดียว นับแต่เดือนมิถุนายน2533 เป็นต้นมา จำเลยไม่ได้จ่ายอีกเลย โจทก์มีรายได้เพียงเล็กน้อยเด็กชายจิรายุเติบโตขึ้นมาทำให้ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูต้องเพิ่มขึ้น โจทก์ประสงค์ให้จำเลยชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูตลอดจนค่าใช้จ่ายในการศึกษาเล่าเรียนแก่เด็กชายจิรายุ ในอัตราเดือนละ 4,000 บาท นับแต่เดือนมิถุนายน 2533 เป็นต้นไปจนกว่าเด็กชายจิรายุบรรลุนิติภาวะ เป็นเวลา 19 ปี คิดเป็นเงิน912,000 บาท โจทก์บอกกล่าวแล้วแต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยไปดำเนินการจดทะเบียนรับรองว่าเด็กชายจิรายุ อาระยะกุลหรืออุ้มเพชร เป็นบุตรของจำเลย ณ ที่ว่าการท้องที่ หากจำเลยไม่ไปขอให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนา ให้จำเลยชำระเงินทั้งสิ้น 912,000 บาท แก่โจทก์ และให้เด็กชายจิรายุอาระยะกุลหรืออุ้มเพชร อยู่ในความปกครองของโจทก์แต่เพียงผู้เดียว
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจากจำเลย เพราะเด็กชายจิรายุไม่ได้เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของจำเลย สิทธิและหน้าที่ในการอุปการะเลี้ยงดูยังไม่เกิดขึ้น ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เด็กชายจิรายุเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของจำเลย ให้จำเลยชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูเด็กชายจิรายุให้แก่โจทก์เป็นรายเดือน เดือนละ 3,000 บาท โดยให้จำเลยชำระทุกวันสิ้นเดือนของทุกเดือนติดต่อกันไป นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุดจนกว่าเด็กชายจิรายุ บรรลุนิติภาวะ และให้เด็กชายจิรายุอยู่ในความปกครองของโจทก์แต่ผู้เดียว คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรจากจำเลยหรือไม่ เพราะในเวลาที่โจทก์ฟ้อง เด็กชายจิรายุยังไม่ได้เป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของจำเลย สิทธิและหน้าที่ในการอุปการะเลี้ยงดู ระหว่างจำเลยและเด็กชายจิรายุยังไม่เกิดขึ้น เห็นว่าการที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยรับรองบุตรและเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูรวมมาด้วยกัน เป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกัน โจทก์ย่อมฟ้องรวมในคดีเดียวกันได้ โดยไม่จำเป็นต้องฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าเป็นบุตรเพื่อให้เกิดสิทธิเสียก่อนแล้วจึงมาฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูรวมมาด้วยกัน เป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกัน โจทก์ย่อมฟ้องรวมในคดีเดียวกันได้ โดยไม่จำเป็นต้องฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าเป็นบุตรเพื่อให้เกิดสิทธิเสียก่อนแล้วจึงมาฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูในภายหลังดังที่จำเลยอ้าง”พิพากษายืน
นายภัตธนสันต์ กฤตชัยพงศ์ ทนายแม่สายนิวส์ออนไลน์