สำนักข่าว Asia Times และสื่อพม่าอย่างสำนักข่าว Irrawaddy รายงานว่า รัฐบาล NLD เตรียมยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือค่ายผู้ลี้ภัยชาวไทใหญ่ ทั้ง 5 แห่งที่อยู่ตามแนวชายแดนไทย-พม่า หลังจากที่ค่ายผู้ลี้ภัยเหล่านี้กำลังเผชิญกับการขาดแคลนอาหาร เนื่องจากองค์กรต่างชาติตัดงบประมาณช่วยเหลือ ขณะที่นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนที่เป็นที่รู้จักอย่าง นางสาวจ๋ามตองได้ออกมาเปิดเผยสถานการณ์ผู้ลี้ภัยกำลังวิกฤติหนัก และยังระบุว่า ผู้ลี้ภัยเหล่านี้ต่างเป็นเหยื่อของสงครามที่ถูกกระทำโดยกองทัพพม่า และสันติภาพในรัฐฉานยังคงเลือนราง นายอูซอเท ผู้อำนวยการทั่วไปของสำนักงานที่ปรึกษาแห่งรัฐได้ออกมาเรียกร้องให้ผู้นำค่ายผู้ลี้ภัยชาวไทใหญ่รายงานสถานการณ์ความเป็นอยู่ภายในค่ายผู้ลี้ภัยต่อรัฐบาลพม่าโดยตรง และเรียกร้องให้กระทำโดยเร่งด่วน เพื่อขอความรับความช่วยเหลือจากรัฐบาล โดยนายอูซอเทเผยว่า รัฐบาล NLD ของนางอองซาน ซูจี นั้นมีนโยบายช่วยเหลือผู้ลี้ภัย ทั้งในด้านความช่วยเหลือด้านอาหาร การศึกษา และการรักษาพยาบาล อย่างไรก็ตามระบุว่า การช่วยเหลือผู้ลี้ภัยใกล้ชายแดนไทยเป็นเรื่องที่ซับซ้อน ทางรัฐบาลพม่าอาจต้องมีการหารือกับรัฐบาลไทยก่อน ด้านลุงจายแลง ตัวแทนจากค่ายผู้ลี้ภัยชาวไทใหญ่ทั้ง 6 แห่ง ให้สัมภาษณ์ว่า ไม่เคยรู้มาก่อนว่าทางรัฐบาล NLD จะให้การช่วยเหลือ ถือเป็นเรื่องใหม่ อย่างไรก็ตามตนจะนำเรื่องนี้ไปปรึกษาภายในคณะกรรมการและจะติดต่อไปทางรัฐบาลพม่า ขณะที่ค่ายผู้ลี้ภัยทั้ง 5 แห่งที่ถูกตัดงบประมาณช่วยเหลือจากองค์กรต่างชาติ และกำลังจะขาดแคลนอาหารในเดือนตุลาคมนี้ ได้แก่ ค่ายผู้ลี้ภัยดอยไตแลง ดอยก่อวัน ดอยดำ ดอยสามสิบ กองมุงเมือง และค่ายผู้ลี้ภัยกุงจ่อ ซึ่งเป็นค่ายผู้ลี้ภัยแห่งเดียวที่อยู่ในฝั่งไทย ด้านอำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีผู้ลี้ภัยราว 6,000 อาศัยอยู่ตามค่ายเหล่านี้ ซึ่งผู้ลี้ภัยเหล่านี้ได้อพยพหนีมายังชายแดนไทย-พม่าตั้งแต่เมื่อ 20 ปีที่แล้ว หลังถูกขับไล่โดยกองทัพพม่า ด้านนางสาวจ๋ามตอง นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนไทใหญ่เปิดเผยถึงกรณีนี้ว่า สถานการณ์ของผู้ลี้ภัยไทใหญ่ทั้ง 6,000 คน ที่อยู่ตามแนวชายแดนไทย-พม่านั้นกำลังเข้าสู่วิกฤติ ขณะที่พบว่าในจำนวนนี้เป็นเด็กราว 1,000 คน นางสาวจ๋ามตองยังเผยอีกว่า หมู่บ้านเดิมที่ผู้ลี้ภัยเหล่านี้เคยอาศัยอยู่นั้นถูกทำลายจนหมดสิ้น และในช่วงยุคปี 2539-2541 มีชาวไทใหญ่กว่า 300,000 คน ถูกขับไล่ให้ออกมาภูมิลำเนาตัวโดยกองทัพพม่า โดยกองทัพพม่าสั่งให้ชาวบ้านเหล่านั้นย้ายถิ่นฐานภายใน 3 ถึง 7 วันเท่านั้น โดยนักเคลื่อนใหญ่ไทใหญ่เปรียบเทียบสถานการณ์ในรัฐฉานไม่แตกต่างจากสถานการณ์ผู้ลี้ภัยโรฮิงญา ทางตะวันตกของประเทศขณะนี้ “ราว 1,400 หมู่บ้านได้ถูกบังคับย้ายถิ่นฐาน มีการทรมานทำร้ายร่างกายชาวบ้าน ข่มขืน และสังหาร ซึ่งเป็นเรื่องที่พบเห็นอยู่ทั่วไป เลวร้ายกว่านั้นคือการสังหารหมู่ชาวบ้าน 56 คน ในเมืองกุ๋งเหง เมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2540” นางสาวจ๋ามตองยังกล่าวเพิ่มเติม ยุคปี 2542-2544 ทางรัฐบาลทหารพม่าได้อพยพชาวว้าจำนวน 120,000 คน จากทางตะวันตกเฉียงเหนือของรัฐฉานใกล้ชายแดนจีนมาอยู่เมืองทางใต้ ซึ่งติดกับชายแดนทางจังหวัดภาคเหนือของไทย
ซึ่งอาจเป็นเพราะเหตุผลต้องการกวาดล้างและลดการปลูกฝิ่นในหมู่ชาวว้า หรือเป็นไปเพื่อคานอำนาจในรัฐฉาน อย่างไรก็ตาม การนำอพยพชาวว้าเข้ามาดังกล่าว สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวไทใหญ่และชาวอาข่า ซึ่งเป็นชาติพันธุ์เดิมที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ เนื่องจากที่ดินของพวกเขาถูกยึดไปให้กับผู้อพยพใหม่ ในขณะที่ทางการไทยเองก็แสดงความเป็นห่วงว่า ยาเสพติด เช่น ยาบ้า จะทะลักเข้าชายแดนไทย โดยในหลายปีก่อน กองทัพว้าและกองทัพพม่ายังร่วมมือกันรบกับกองทัพไทใหญ่ เป็นเหตุให้มีชาวบ้านซึ่งเป็นผู้หญิงและเด็กราว 1,000 ต้องหลบหนีไปยังพื้นที่ซึ่งใกล้กับชายแดน และต่อมาถูกตั้งเป็นค่ายผู้พลัดถิ่นภายในขึ้น นางสาวจ๋ามตองยังระบุด้วยว่า ผู้ลี้ภัยชาวไทใหญ่จำนวนมากที่อพยพเข้าไทยจากสงครามในประเทศต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดโดยการเป็นแรงงานในประเทศไทย นอกจากนี้ยังกล่าวว่า สันติภาพคงเกิดขึ้นได้ยากในรัฐฉาน โดยชี้ให้เห็นว่า การสู้รบกัน ความขัดแย้งยังคงให้เห็นดาษดื่นแม้หลังการลงนามหยุดยิงแห่งชาติแล้วก็ตาม โดยกำลังทหารพม่า 1 ใน 4 ยังคงประจำอยู่ในรัฐฉาน ซึ่งเป็นรัฐที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ โดยเรียกร้องขอให้มีการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยเหล่านี้ต่อไป ขณะที่เมื่อเร็ว ๆ นี้ ทางรัฐบาลพม่าได้ประกาศว่า ผู้พลัดถิ่นภายในที่ต้องการที่จะทำงานในประเทศไทย ควรกลับมาเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติ เกี่ยวกับเรื่องนี้ผู้สังเกตการณ์มองว่า เป็นเรื่องที่ทำยาก เนื่องจากหมู่บ้านที่คนเหล่านี้เคยอาศัยอยู่ถูกทำลายและไม่มีอยู่แล้ว การหาคนมารับรองพวกเขาก็เป็นเรื่องที่เสี่ยงและยุ่งยาก ทั้งนี้ มีรายงานว่า มีผู้พลัดถิ่นภายในราว 150,000 คน ทั้งจากค่ายหลายแห่งในรัฐคะฉิ่นและทางเหนือของรัฐฉาน พวกเขาเหล่านี้ส่วนใหญ่เองก็ถูกตัดงบช่วยเหลือด้านอาหารตั้งแต่เมื่อปีที่แล้ว โดยคาดว่า มีค่ายผู้พลัดถิ่นภายในทั้งในรัฐฉานและรัฐคะฉิ่นทั้งสิ้น 160 แห่ง ตั้งอยู่ทั้งในพื้นที่ซึ่งควบคุมโดยกองทัพพม่าและกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธ จากข้อมูลขององค์กร The Border Consortium ระบุว่า ประเทศพม่ายังมีผู้พลัดถิ่นภายในอีกราว 110,000 คน ใน 24 เมืองทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ รวมถึงรัฐกะเหรี่ยง รัฐคะเรนนี และรัฐฉาน นอกจากนี้ยังมีผู้ลี้ภัยอีกราว 100,000 คน ตามชายแดนไทย-พม่า ที่หนีสงครามการเมืองภายในประเทศที่ดำเนินมาระยะเวลายาวนาน 70 ปี ทั้งนี้ การตัดความช่วยเหลือสนับสนุนด้านอาหารแก่ผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นภายในได้ยุติลง นับตั้งแต่กระบวนการสันติภาพในประเทศได้เริ่มขึ้น ที่มา Irrawaddy/Asia Times แปลและเรียบเรียงโดย สำนักข่าวชายขอบ
ขอขอบคุณแหล่งข่าวจาก – สำนักข่าวชายขอบ : http://transbordernews.in.th/home/?p=17907 .