สำนักข่าวเมียนมาไทม์รายงานว่า จากเหตุการณ์ความรุนแรงและความไม่สงบที่เกิดขึ้นในรัฐอาระกัน หรือรัฐยะไข่เมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยเฉพาะเมืองทางเหนือของรัฐยะไข่ ส่งผลให้หมู่บ้านต่าง ๆ ในพื้นที่ถูกเผาทำลายได้รับความเสียหายอย่างหนัก และทำให้ชาวบ้านที่หวาดกลัวต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอพยพหนีออกจากในพื้นที่ โดยเฉพาะชาวยะไข่ที่เดินทางหนีออกจากพื้นที่แล้วกว่า 4,000 คน อย่างไรก็ตาม ทางการพม่ายอมรับว่า ไม่สามารถระบุตัวเลขได้ชัดเจน โดยตัวเลขที่แท้จริงอาจสูงกว่าที่ทางการพม่ารายงาน อีกด้านหนึ่งมีรายงานว่า ชาวมุสลิมโรฮิงญาราว 2,000 คน ได้เดินทางอพยพหนีข้ามไปยังชายแดนบังกลาเทศเช่นเดียวกัน แม้ก่อนหน้านี้ ทางการบังกลาเทศได่ปิดชายแดนคุมเข้มอย่างหนักเพื่อป้องกันไม่ให้ชาวโรฮิงญาทะลักเข้าประเทศ ทางการพม่าในรัฐอาระกัน หรือรัฐยะไข่เปิดเผยว่า ในบางหมู่บ้านพบว่าได้รับความเสียหายอย่างหนักจากการต่อสู้กันระหว่างกลุ่มก่อความไม่สงบและเจ้าหน้าที่ตำรวจพม่า เช่นหมู่บ้าน ต่องบาซาร์ โดยเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม มีกลุ่มก่อความไม่สงบราว 100 คน ได้ก่อเหตุโจมตีในพื้นที่ดังกล่าว นอกจากนี้ยังเปิดเผยว่า ชาวบ้านที่หนีออกจากพื้นที่ที่เกิดเหตุความไม่สงบ ขณะนี้หนีไปอยู่ที่เมืองชิตต่วย เมืองราทีดอง และที่เมืองโปนายุ้น ซึ่งเป็นพื้นที่ปลอดภัย โดยเหตุการณ์ความรุนแรงยังคงดำเนินไป มีรายงานว่า ทั้งฝ่ายทางการพม่าและกลุ่มติดอาวุธชาวโรฮิงญาต่างใช้ความรุนแรงเข้าห้ำหั่นกัน ด้านพลโท จ่อส่วย รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยของพม่าได้ออกมาเปิดเผยในการแถลงข่าวรายงานสถานการณ์ในรัฐยะไข่ต่อสถานทูตต่าง ๆ รวมไปถึงยูเอ็นวานนี้ (29 สิงหาคม) ว่า การออกมาโจมตีของกองทัพปลดปล่อยอาระกันโรฮิงญา (Arakan Rohingya Salvation Army -ARSA) เมื่อเร็ว ๆ นี้
เป็นเพราะทางกลุ่ม ASRA มีความพยายามที่จะตั้งเมืองบูทีดองและเมืองราทีดองเป็นรัฐอิสลาม (Islamic State) ซึ่งชาวโรฮิงยาส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในทั้งสองเมืองนี้ นอกจากนี้ยังกล่าวหาว่า กลุ่มที่ก่อความไม่สงบเป็นผู้ที่มาจากบังกลาเทศและรุกล้ำเข้าในเขตประเทศพม่า โดยทางการพม่ากล่าวอ้างว่า กลุ่มติดอาวุธ ARSA พยายามที่จะทำลายโครงสร้างการบริหารท้องถิ่น โดยมีแผนการ 4 ขั้นตอนเพื่อให้ได้มาซึ่งการครอบครองดินแดน ซึ่งการสร้างสถานการณ์ความขัดแย้งเพื่อให้ชาวบ้านอพยพหนีออกจากในพื้นที่ก็เป็นหนึ่งในแผนการของกลุ่ม ARSA ทางการพม่ากล่าว เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทาง ARSA ได้ออกแถลงการณ์ว่า ทางกลุ่มนั้นต้องการที่จะปกป้องคนของตัวเองและต่อสู้เรียกร้องสิทธิพลเมืองเท่านั้น รวมทั้งไม่มีเป้าหมายที่จะโจมตีชาวบ้านผู้บริสุทธิ์ อย่างไรก็ตาม ทางการพม่ายังกล่าวหาว่า กลุ่ม ARSA นั้นได้สังหารประชาชนไปแล้วทั้งสิ้น 63 คน นับตั้งแต่เดือนตุลาคมของปีที่แล้ว ซึ่งในจำนวนนี้รวมถึงเจ้าหน้าที่ข้าราชการชาวยะไข่ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย โดยชาวบ้านที่สูญหายอีก 37 คน ก็พบว่าอาจเชื่อมโยงกับกลุ่ม ARSA โดยทางการพม่ายังกล่าวหากลุ่ม ARSA ว่า ได้วางกับระเบิดที่ทำขึ้นเองในพื้นที่ อีกทั้งมีองค์กรต่างชาติให้การช่วยเหลือกลุ่ม ARSA และมีส่วนเกี่ยวข้องในการก่อเหตุครั้งนี้ด้วย โดยทางการพม่ายังประกาศกร้าวจะใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดปรามปรามกลุ่มที่ก่อความไม่สงบขึ้นในรัฐยะไข่ อย่างไรก็ตาม ทั้งฝ่าย ARSA และเจ้าหน้าที่ทางการพม่าต่างโจมตีว่าอีกฝ่ายเผาทำลายบ้านเรือนในพื้นที่ ทางด้านนายซาอิด ราอัด อัล ฮุสเซน ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติกล่าวเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยุติการกระทำที่จะก่อให้เกิดความรุนแรง รวมทั้งประณามการก่อเหตุโจมตีสถานีตำรวจที่ผ่านมา จนทำให้มีเจ้าหน้าที่เสียชีวิต 12 นาย โดยเรียกร้องให้นำตัวคนที่ก่อเหตุเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม นอกจากนี้ยังออกมาแสดงความเป็นห่วงต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่ พร้อมเตือนว่า การกวาดล้างปราบปรามชาวโรฮิงญาที่รุนแรงอาจเทียบเท่ากับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ นอกจากนี้นายซาอิด ราอัด อัล ฮุสเซน กล่าวว่า การแสดงออกความรุนแรงของกลุ่มชาวโรฮิงญาเป็นผลมาจากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนและถูกกดขี่มายาวนาน ที่มา Irrawaddy/Myanmar times แปลและเรียบเรียงโดย สำนักข่าวชายขอบ
ขอขอขคุณแหล่งข่าวจาก : สำนักข่าวชายขอบ : Link>>> http://transbordernews.in.th/home/?p=17501 .