หลังจากที่เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงในรัฐยะไข่ หรือรัฐอาระกัน ทางตะวันตกของประเทศอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด 20 พรรคการเมืองในพม่าได้รวมตัวออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาล NLD ของนางซูจีชี้แจงต่อนานาชาติว่า ไม่มีชาติพันธุ์โรฮิงญาในพม่า และชาวมุสลิมโรฮิงญาไม่ใช่ชาวพื้นเมืองของประเทศ ขณะที่ประชากรชาวโรฮิงญาในพม่านั้นมีอยู่กว่า 1 ล้านคน อีกด้านหนึ่งมีกระแสข่าวออกมาว่า ทางกองทัพพม่าเตรียมปูพรมตรวจสอบภูเขามายู รอยต่อชายแดนบังกลาเทศ หลังมีรายงานกลุ่มติดอาวุธชาวโรฮิงญาซ่องสุมกำลังในเขตพื้นที่ดังกล่าว มีรายงานว่า พรรค USDP พรรคการเมืองสายทหาร ได้เป็นแกนนำหลักนำพรรคการเมืองอื่นๆ รวม 20 พรรคการเมือง ออกมาเรียกร้องต่อรัฐบาล NLD ให้เร่งดำเนินการชี้แจงต่อนานาชาติว่า ชาวโรฮิงญานั้นไม่มีอยู่ในประเทศ นอกจากนี้ ทางกลุ่มพรรคการเมืองยังเรียกร้องอีก 4 ข้อ คือให้ทางการเร่งใช้มาตรการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวดในพื้นที่ ให้การรักษาความปลอดภัยให้กับเจ้าหน้าที่ราชการ บังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการก่อการร้ายปี 2557 ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งการปฏิเสธใช้คำว่าโรฮิงญา ขณะที่ชาวโรฮิงญา นั้นรู้จักในพม่าชื่อ ชาวเบงกาลี อพยพมาจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างบังกลาเทศ ซึ่งมีประชากรมากกว่า 1 ล้านคน นายอูละเต่ง คณะกรรมการกลางของพรรค USDP เผยว่า นานาชาติมีแต่จะติเตียนเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนของชาวโรฮิงญาต่อรัฐบาลพม่า แต่ในอีกด้านหนึ่ง คนยะไข่และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเองก็มักถูกกลุ่มก่อการร้ายติดอาวุธสังหารเช่นกัน
โดยนายอูละเต่ง กล่าวว่า มาตรการรักษาความปลอดภัยและการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในรัฐอาระกันนั้น ทางการยังทำได้ไม่ดีพอ เหตุการณ์ที่ชาวมโร (Mro) ชนพื้นเมืองเชื้อชาติเดียวกับชาวยะไข่ถูกสังหารเสียชีวิตใกล้กับภูเขามายู ติดชายแดนบังกลาเทศ ในเมืองมงดอว์ ทางเหนือของรัฐยะไข่นั้น จนถึงขณะนี้ยังไม่สามารถจับตัวคนร้ายได้ ด้านชาวบ้านในพื้นที่เชื่อน่าจะเป็นฝีมือของกลุ่มติดอาวุธ อย่างไรก็ตามหลังเกิดเหตุการณ์นี้ ทำให้ทางกองทัพพม่าได้ส่งกำลังทหารราว 500 นาย เพื่อเข้าไปรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ นอกจากนี้เมื่อวันจันทร์ (14 ส.ค.) ที่ผ่านมา ทางกองทัพพม่าได้ออกคำสั่งห้ามชาวบ้านเข้าไปใกล้เขตภูเขามายูโดยเด็ดขาด โดยอ้างว่า กองทัพพม่าจะเข้าไปตรวจสอบและเข้าเคลียร์ในพื้นที่ดังกล่าว หลังจากก่อนหน้านี้มีรายงานออกมาว่าเป็นพื้นที่ต้องสงสัยว่า เป็นพื้นที่ซ่องสุมของกลุ่มติดอาวุธชาวมุสลิมโรฮิงญา และมีการฝึกทหารให้กับชาวโรฮิงญาจำนวน 300 นาย ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากต่างชาติ ส่วนทางยูเอ็นได้ออกมาเปิดเผยเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีชาวโรฮิงญากว่า 168,000 คน หนีจากเหตุความรุนแรงในพม่า ส่วนใหญ่อพยพหนีไปอยู่ที่บังกลาเทศและมาเลเซีย และเหตุการณ์โจมตีสถานีตำรวจพม่าเมื่อเดือนตุลาคมของปีที่แล้ว จนนำไปสู่การเข้าปราบปรามกวาดล้างชาวโรฮิงญาถของกองทัพพม่า ทำให้มีชาวโรฮิงญากลุ่มใหม่อพยพไปอยู่บังกลาเทศอีกกว่า 70,000 คน อีกด้านหนึ่ง รัฐบาลอินเดียเพิ่งออกมาประกาศเมื่อเร็วๆ นี้ เตรียมที่จะผลักดันชาวมุสลิมโรฮิงญาที่มีอยู่ในอินเดียจำนวน 40,000 คน ออกจากประเทศ โดยเผยว่า แม้ชาวโรฮิงญาบางส่วนจะขึ้นทะเบียนและได้รับบัตรประจำตัวจากยูเอ็น แต่ก็เข้าเมืองผิดกฎหมาย จึงจำเป็นที่จะต้องผลักดันออกประเทศ โดยเตรียมหารือเรื่องนี้กับรัฐบาลบังกลาเทศและรัฐบาลพม่า ที่มา Irrawaddy/REUTERS แปลและเรียบเรียงโดย สำนักข่าวชายขอบ
….ขอขอบคุณแหล่งข่าวจาก: สำนักข่าวชายขอบ : Link>>> http://transbordernews.in.th/home/?p=17365 .