บีโอไอ ติดตามความคืบหน้าเขตเศรษฐกิจพิเศษเชียงราย หลังรัฐบาลเปิดเฟส 2 ต่อจากแม่สอดเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนภาคเหนือ หวังส่งเสริมการลงทุนในหลายอุตสาหกรรม ชี้อ.เชียงของจะเห็นเป็นรูปธรรมที่สุดไม่ว่าจะเป็นเรื่องของโครงสร้างที่รัฐบาลลงทุนไปไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสะพานมิตรภาพแห่งที่ 4 หรือศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่ง ขณะที่ยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ภาคเหนือ 9 เดือนแรกปีนี้ มีมูลค่าเงินลงทุน 16,074 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมการเกษตร ด้านมูลค่าของเงินลงทุนพบว่าอุตสาหกรรมการแพทย์มีเงินลงทุนสูงสุด ซึ่งทิศทางแนวโน้มการส่งเสริมการลงทุนในปี 2560 คาดว่าจะมีโครงการเพิ่มมากขึ้น จากการที่ บีโอไอจะนำเสนอเครื่องมือใหม่ ๆ กระตุ้นการลงทุน
เมื่อเร็วๆนี้ ศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ 1 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน( บีโอไอ ) จัดกิจกรรมนำสื่อมวลชนไปเยี่ยมชม บริษัทที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนในจังหวัดเชียงราย คือบริษัท ทีซีซี-ห้าเชียง จำกัด บริษัทได้ลงทุนพัฒนาโครงการท่าเรือห้าเชียง ตั้งอยู่ในพื้นที่เขตสามเหลี่ยมทองคำ ริมฝั่งแม่น้ำโขง อำเภอเชียงแสน โดยได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ ในกิจการขนถ่ายสินค้า และบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน( Local Investment ) บริษัท เอสพีเอ็น ฟู้ดส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผลิตน้ำพริกสำเร็จรูป เช่น น้ำพริกตาแดง อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย
พร้อมกับติดตามความคืบหน้าเรื่องของเขตเศรษฐกิจพิเศษและการเยี่ยมชมศูนย์บริการเบ็ดเสร็จด้านการลงทุน OSS ถึงการเตรียมพร้อมรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษเชียงรายเฟสที่ 2 พร้อมกับติดตามเรื่องของการค้าชายแดน ติดตามเรื่องการขนถ่ายสินค้าทางน้ำรวมถึงติดตามเรื่องของ Local Investment การส่งเสริมการลงทุนท้องถิ่น
นางอรพิน สวัสดิ์พานิช ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ 1 เปิดเผยว่า โครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ภาคเหนือช่วง 9 เดือน ของปี 2559 มีจำนวน 90 โครงการ และมีมูลค่าเงินลงทุน 16,074 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างงานทั้งสิ้น 4,442 คน โดยอยู่ในอุตสาหกรรมเป้าหมายทั้งหมด 53 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 59 ของโครงการที่ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนใน 9 เดือนแรก ปี2559 และมีมูลค่าลงทุนทั้งสิ้น 11,056 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 69 ของมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนใน 9 เดือนแรก ปี2559 หากพิจารณาในแง่ของจำนวนโครงการพบว่าส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมการเกษตร ส่วนในด้านมูลค่าของเงินลงทุนพบว่าอุตสาหกรรมการแพทย์มีเงินลงทุนสูงสุด โดยมีรายละเอียดดังนี้
อุตสาหกรรมดิจิทัล มีคำขอรับการส่งเสริม 12 โครงการ เงินลงทุน 44 ล้านบาท ได้แก่ กิจการพัฒนาซอฟต์แวร์ จำนวน 12 โครงการ เงินลงทุน 44 ล้านบาท ต่อมาคืออุตสาหกรรมการเกษตร มีคำขอรับการส่งเสริม 21 โครงการ เงินลงทุน 4,418 ล้านบาท ได้แก่ กิจการผลิตปุ๋ยชีวภาพ ปุ๋ยอินทรีย์ จำนวน 2 โครงการ เงินลงทุน 53 ล้านบาท กิจการปรับปรุงพันธุ์พืชหรือสัตว์ จำนวน 2 โครงการ เงินลงทุน 60 ล้านบาท กิจการคัดคุณภาพข้าว จำนวน 1 โครงการ เงินลงทุน 100 ล้านบาท กิจการผลิตอาหารสัตว์ จำนวน 2 โครงการ เงินลงทุน 825 ล้านบาท กิจการผลิตอาหารทางการแพทย์ (Medical Food) หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (Food Supplement) จำนวน 1 โครงการ เงินลงทุน 34 ล้านบาท กิจการผลิตหรือถนอมอาหารโดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย จำนวน 13 โครงการ เงินลงทุน 3,346 ล้านบาท
อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์โทรคมนาคม มีคำขอรับการส่งเสริม 1 โครงการ เงินลงทุน 48 ล้านบาท ได้แก่ กิจการผลิตชิ้นส่วนสำหรับโทรคมนาคม เงินลงทุน 48 ล้านบาท อุตสาหกรรมระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ มีคำขอรับการส่งเสริม 1 โครงการ เงินลงทุน 22 ล้านบาท ได้แก่ กิจการผลิตเครื่องจักรอัตโนมัติ เงินลงทุน 22 ล้านบาท
อุตสาหกรรมการแพทย์ มีคำขอรับการส่งเสริม 2 โครงการ เงินลงทุน 4,214 ล้านบาท ได้แก่ กิจการผลิตคอนแทคเลนส์ จำนวน 1 โครงการ เงินลงทุน 2,401 ล้านบาท กิจการผลิตเลนส์แก้วตาเทียม จำนวน 1 โครงการ เงินลงทุน 1,813 ล้านบาท
อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม มีคำขอรับการส่งเสริม 5 โครงการ เงินลงทุน 285 ล้านบาท ได้แก่ กิจการผลิตเครื่องนุ่งห่ม และเคหะสิ่งทอ จำนวน 3 โครงการ เงินลงทุน 52 ล้านบาท กิจการผลิตด้ายหรือผ้าที่มีคุณสมบัติพิเศษ จำนวน 2 โครงการ เงินลงทุน 233 ล้านบาท
อุตสาหกรรมการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์ มีคำขอรับการส่งเสริม 1 โครงการ เงินลงทุน 2 ล้านบาท ได้แก่ กิจการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์ จำนวน 1 โครงการ เงินลงทุน 2 ล้านบาท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ มีคำขอรับการส่งเสริม 10 โครงการ เงินลงทุน 2,023 ล้านบาท ได้แก่ กิจการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกสำหรับสินค้าอุปโภค จำนวน 10 โครงการ เช่น ขวดพลาสติก ถุงพลาสติก เงินลงทุน 2,023 ล้านบาท
การขอรับการส่งเสริมในพื้นที่ภาคเหนือแยกรายหมวด หมวดเกษตรกรรมและผลิตผลการเกษตร ได้รับความสนใจลงทุนมากที่สุด โดยในภาคเหนือ 9 เดือนแรก ปี 2559 มีคำขอรับการส่งเสริม 26 โครงการ มูลค่ารวม 4,957 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 31 ของมูลค่าการลงทุนทั้งหมด รองลงมา ได้แก่ หมวดบริการและสาธารณูปโภค มีคำขอรับการส่งเสริม 20 โครงการ มูลค่าการลงทุนรวม 3,440 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 21 ของมูลค่าการลงทุนทั้งหมด
การกระจายสัดส่วนผู้ถือหุ้น : ส่วนใหญ่เป็นโครงการที่คนไทยถือหุ้นทั้งสิ้น โครงการคนไทยถือหุ้นทั้งสิ้น มีจำนวน 58 โครงการ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 64 ของจำนวนโครงการ ที่ขอรับการส่งเสริมทั้งหมด เงินลงทุน 9,765 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 61 ของมูลค่าการลงทุนทั้งหมด
โครงการต่างชาติลงทุนทั้งสิ้น มีจำนวน 28 โครงการ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 31 ของจำนวนโครงการ ที่ขอรับการส่งเสริมทั้งหมด เงินลงทุน 6,191 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 39 ของมูลค่าการลงทุนทั้งหมด
คำขอรับการส่งเสริมกระจุกตัวในจังหวัดเชียงใหม่มากที่สุด โดยจังหวัดเชียงใหม่มี 32 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 36 ของจำนวนโครงการทั้งหมด เงินลงทุน 1,523 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 9 ของมูลค่าการลงทุนทั้งหมด การลงทุนในจังหวัดตากมีมากเป็นอันดับที่ 2 โดยมีคำขอรับการส่งเสริม 20 โครงการ เงินลงทุน 3,667 ล้านบาท
โดยคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนใน 9 เดือนแรกของปี 2559 มีการลงทุนในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ดังนี้ พื้นที่ 20 จังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวต่ำ มีคำขอรับการส่งเสริม 5 โครงการ เงินลงทุน 253 ล้านบาท ได้แก่ กิจการปรับปรุงพันธุ์เมล็ดพันธุ์ข้าวโพด จำนวน 1 โครงการ เงินลงทุน 47 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่จังหวัดแพร่ กิจการศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน จำนวน 1 โครงการ เงินลงทุน 1 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่จังหวัดน่าน กิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ จำนวน 3 โครงการ เงินลงทุน 205 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่จังหวัดสุโขทัย
พื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมหรือเขตอุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริม มีคำขอรับการส่งเสริม 7 โครงการ เงินลงทุน 4,751 ล้านบาท กิจการผลิตคอนแทคเลนส์ จำนวน 1 โครงการ เงินลงทุน 2,401 ล้านบาท กิจการเลนส์แก้วตาเทียม จำนวน 1 โครงการ เงินลงทุน 1,813 ล้านบาท กิจการผลิตชิ้นส่วนสำหรับโทรคมนาคม จำนวน 1 โครงการ เงินลงทุน 48 ล้านบาท กิจการผลิตอุปกรณ์สารกึ่งตัวนำ และ/หรือ ชิ้นส่วนสำหรับอุปกรณ์สารกึ่งตัวนำ จำนวน 1 โครงการ เงินลงทุน 236 ล้านบาท กิจการผลิตขนมอบกรอบจากข้าว จำนวน 1 โครงการ เงินลงทุน 20 ล้านบาท กิจการผลิตน้ำมันมัสตาร์ดดิบและแป้งมัสตาร์ด จำนวน 2 โครงการ เงินลงทุน 233 ล้านบาท
พื้นที่ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน มีคำขอรับการส่งเสริม 19 โครงการ เงินลงทุน 3,666 ล้านบาท ได้แก่ กิจการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติก จำนวน 10 โครงการ เงินลงทุน 2,023 ล้านบาท กิจการผลิตวัสดุก่อสร้างและกิจการผลิตผลิตภัณฑ์คอนกรีตอัดแรงสำหรับงานสาธารณูปโภคและกิจการผลิตชิ้นส่วนเหล็กหล่อ จำนวน 3 โครงการ เงินลงทุน 543 ล้านบาท กิจการผลิตเครื่องนุ่งห่มและเคหะสิ่งทอ จำนวน 3 โครงการ เงินลงทุน 156 ล้านบาท กิจการผลิตอาหารสัตว์หรือส่วนผสมอาหารสัตว์ จำนวน 1 โครงการ เงินลงทุน 500 ล้านบาท กิจการผลิตด้ายหรือผ้าที่มีคุณสมบัติพิเศษ จำนวน 1 โครงการ เงินลงทุน 128 ล้านบาท
กิจการศูนย์กระจายสินค้าระหว่างประเทศด้วยระบบที่ทันสมัย จำนวน 1 โครงการ เงินลงทุน 316 ล้านบาท
การขอรับส่งเสริมตามมาตรการส่งเสริม SMEs มาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและมาตรการส่งเสริมการลงทุนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบคลัสเตอร์ ใน 9 เดือนแรก ในปี 2559 มีคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนตามมาตรการเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) จำนวน 6 โครงการ เงินลงทุน 119 ล้านบาท ได้แก่ กิจการผลิตซอฟต์แวร์ 3 โครงการ เงินลงทุน 13 ล้านบาท กิจการผลิตเซรามิกส์ 1 โครงการ เงินลงทุน 9 ล้านบาท กิจการผลิตเครื่องจักร อุปกรณ์ หรือชิ้นส่วน จำนวน 1 โครงการ เงินลงทุน 57 ล้านบาท และกิจการผลิตชิ้นส่วนยานพาหนะอื่นๆ จำนวน 1 โครงการ เงินลงทุน 40 ล้านบาท
สำหรับทิศทางแนวโน้มการส่งเสริมการลงทุนในปี 2560 คาดว่าจะมีโครงการเพิ่มมากขึ้น จากการที่ บีโอไอจะนำเสนอเครื่องมือใหม่ ๆ ที่จะกระตุ้นการลงทุน คือ การขยายเวลายกเว้นภาษีเงินได้จาก 8 ปี เป็น 12 ปี รวมถึงการมีนโยบายเพิ่มขีดความสามารถของกลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งผู้ประกอบการจะได้รับสิทธิประโยชน์อย่างเต็มที่ จึงคาดว่าจะเป็นแรงดึงดูดให้การลงทุนเพิ่มขึ้นในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ
ทั้งนี้ในส่วนของส่งเสริมการลงทุนท้องถิ่น (Local Investment) นั้นคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนมีมติเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2559 เห็นชอบมาตรการส่งเสริมการลงทุนท้องถิ่น (Local Investment) สนับสนุนการสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผลผลิตการเกษตร และพัฒนาคุณภาพแหล่งการท่องเที่ยว เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่น และสนับสนุนให้เกิด “1 ตำบล 1 โรงงานแปรรูปเกษตร 1 แหล่งท่องเที่ยว” โดยกำหนดเป็น 3 แนวทาง ดังนี้
ส่งเสริมให้เกิดโรงงานแปรรูปผลิตผลการเกษตร ซึ่งทำได้ง่าย ใช้เงินลงทุนไม่สูง และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตการเกษตรในท้องถิ่น เช่น การผลิตปุ๋ยชีวภาพ หรือผลิตภัณฑ์จากยางธรรมชาติ เป็นต้น
กรณีลงทุนโดยบริษัทขนาดใหญ่ ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปีให้กับกิจการที่ดำเนินการอยู่เดิมของบริษัทแม่ วงเงินไม่เกินมูลค่าเงินลงทุนของโครงการแปรรูปเกษตรที่ได้ลงทุน
กรณีลงทุนโดยสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน หรือผู้ประกอบการทั่วไปที่ลงทุนตั้งโรงงาน ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 ปี ปรับลดเงื่อนไขขนาดการลงทุนขั้นต่ำ จาก 1 ล้านบาท เหลือ 1 แสนบาท อนุญาตให้ใช้เครื่องจักรใช้แล้วในประเทศบางส่วนในโครงการได้ ส่งเสริมกิจการศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน เพื่อสนับสนุนเกษตรกรและโรงงานแปรรูปผลผลิตการเกษตรในท้องถิ่น ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี
ส่งเสริมกิจการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวชุมชน เพื่อสนับสนุนการสร้างจุดขายใหม่ๆ และยกระดับแหล่งท่องเที่ยวในท้องถิ่นให้มีคุณภาพ กรณีลงทุนโดยบริษัทขนาดใหญ่ จะมีการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปีให้กับกิจการที่ดำเนินการอยู่เดิมของบริษัทแม่ กรณีลงทุนโดยผู้ประกอบการทั่วไปยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 ปีทั้งนี้ กิจการที่จะลงทุนภายใต้มาตรการส่งเสริมการลงทุนท้องถิ่นนี้ จะต้องยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนภายในปี 2559 และจะต้องเริ่มการผลิตหรือให้บริการภายในปี 2560
“การส่งเสริมการลงทุนท้องถิ่น (Local Investment) ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมตามท้องถิ่น เป็นวัตถุดิบทางการเกษตร โดยมี 3 ประเภท ประกอบด้วย 1.การแปรรูปการเกษตร 2.อุตสาหกรรมบริษัทใหญ่มาช่วยบริษัทเล็กในการให้ทุนทั้งเครื่องจักรและปรับปรุงสายการผลิต เรียกว่าใหญ่ช่วยเล็ก รวมถึง3.การเป็นศูนย์กระจายสินค้าทางการเกษตรเสมือนโอทอป แหล่งผลิตสินค้า และพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว” ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ 1 กล่าว.
เขตเศรษฐกิจพิเศษเชียงรายเฟส2 ใน 3 อำเภอ มีการพัฒนาแตกต่างกัน อนาคต อ.เชียงของจะเห็นเป็นรูปธรรมที่สุดและมีศักยภาพมากที่สุด มีความพร้อมด้านการขนส่งในทุกมิติ ขณะที่สถานการณ์กรอบความร่วมมือ GMS ในขณะนี้กำลังเริ่มเฟสที่ 2
เขตเศรษฐกิจ หมายถึง เขตที่รัฐบาลกำหนดเพื่อพัฒนาให้เป็นตัวเมืองใหม่ที่ทันสมัยอย่างรอบด้านเป็นสถานที่ดึงดูดการลงทุนทั้งภายในและต่างประเทศมีเนื้อที่ตั้งแต่หนึ่งพันเฮกตาร์ขึ้นไป มีระบบรับประกันความสงบปลอดภัยและปกป้องรักษาสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืน
– กิจกรรมที่มีศักยภาพ พัฒนาชายแดนรองรับการค้า การท่องเที่ยว เตรียมพื้นที่จัดตั้งโรงแรม ศูนย์การประชุม ร้านค้าปลอดภาษี ศูนย์ขนส่งมวลชน และศูนย์ข้อมูลการท่องเที่ยว
– ศักยภาพและโอกาส สามารถเชื่อมโยงลงมาทางใต้สู่ท่าเรือแหลมฉบังเพื่อส่งออกทางทะเลไปยังภูมิภาคอื่นของโลก ดังนั้นเชียงรายจึงมีศักยภาพในการให้บริการด้านโลจิสติกส์
-มีศักภาพด้านการท่องเที่ยวเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวในเชียงรายกับแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ตอนบนของเมียนมา และสปป.ลาว และจีนตอนใต้ นอกจากนั้นอุตสาหกรรมในพื้นที่ เช่น อุตสาหกรรมแปรรูปเกษตรและอาหารเครื่องเรือนแปรรูปไม้ มีโอกาสพัฒนาขยายห่วงโซ่มูลค่าการผลิต
– อยู่บนแนวระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ (North-South Economic Corridor)ซึ่งสามารถไปเหนือเชื่อมโยงกับจีนตอนใต้ (มณฑลยูนนาน) ได้ทั้งทางบกและทางน้ำ โดยทางบกอาศัย 2เส้นทางได้แก่ ถนนR3A (ผ่านด่านเชียงของและ สปป.ลาว) และ R3B (ผ่านด่านแม่สาย และเมียนมา) สำหรับทางน้ำสามารถขนส่งโดยอาศัยแม่น้ำโขงโดยผ่านท่าเรือเชียงแสน
โดยนายนักปราชญ์ ไชยานนท์ หัวหน้ากลุ่มยุทธศาสตร์การพัฒนา จ.เชียงราย กล่าวว่า ตามแผนแม่บทของจังหวัดกำหนดให้แต่ละอำเภอในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จ.เชียงราย มีการพัฒนาแตกต่างกันไป โดยที่ อ.แม่สาย มุ่งเน้นเรื่องการค้าชายแดนและพาณิชยกรรม การเป็นศูนย์กระจายสินค้า ศูนย์ประชุมนานาชาติ ศูนย์ดิวตี้ฟรี และศูนย์บริการท่องเที่ยวแบบครบวงจร ที่ อ.เชียงแสน เป็นการพัฒนาด้านการค้าชายแดนทางเรือแม่น้ำโขงและการท่องเที่ยว ส่วนที่ อ.เชียงของ เป็นการพัฒนาด้านโลจิสติกส์และการขนส่งสินค้า
ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษทั้งหมดนั้นอ.เชียงของจะเห็นเป็นรูปธรรมที่สุดไม่ว่าจะเป็นเรื่องของโครงสร้างที่รัฐบาลลงทุนไปไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสะพานมิตรภาพแห่งที่ 4 ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งและเมื่อเร็วๆนี้หลังจากนายประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรีมาตรวจราชการจังหวัดเชียงรายก็มีการประกาศเรื่องของการมีเส้นทางรถไฟเด่นชัยมาที่สถานีเชียงรายไปถึงเชียงของ จะเป็นการเชื่อมโยงการขนส่ง จากรถบรรทุกตามถนนผ่านทางR3a แล้วมาเปลี่ยนถ่ายการขนส่งระบบรางเข้ามาในประเทศ อนาคตทางเชียงของน่าจะมีศักยภาพมากที่สุด
อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนจังหวัดเชียงรายอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ และเตรียมผลักดันการพัฒนาโครงการสนามบินอำเภอเชียงของ ซึ่งเป็นสนามบินเดิมที่มีอยู่แล้ว เป็นสนามบินขนาดเล็กที่ทหารเคยใช้มาก่อน พื้นที่ดังกล่าวอยู่ในตำบลสถาน บ้านทุ่งงิ้ว มีขนาดพื้นที่สนามบินจำนวนหลายร้อยไร่ สามารถพัฒนาให้เป็นสนามบินขนาดเล็กที่บินเชื่อมระยะใกล้ระหว่างประเทศลุ่มแม่น้ำโขงตอนบน เพื่อเสริมศักยภาพการขนส่ง-โลจิสติกส์ทางอากาศอีกด้านหนึ่งของอำเภอเชียงของ ซึ่งจะทำให้อำเภอเชียงของมีความพร้อมด้านการขนส่งในทุกมิติ ทั้งทางบก อากาศ และระบบรางที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้
ด้านนายพัฒนา สิทธิสมบัติ ประธานคณะกรรมการเพื่อโครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ (คสศ.) หอการค้า 10 จังหวัดภาคเหนือ เปิดเผยว่า สถานการณ์กรอบความร่วมมือ GMS (Greater Mekong Subregion) หรืออนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงในขณะนี้กำลังเริ่มเฟสที่ 2 ในภาคเอกชนเองได้ฝากในเรื่องของ GMS Business Council คือ เราอยากมีระบบผ่านแดนให้หลักประกันว่าสินค้าที่ผ่านเข้าไปในกลุ่มประเทศนี้แล้วเมื่อติดปัญหาการแจ้งพิกัดไม่ถูกต้องหรือว่าการไม่ปฎิบัติตามระเบียบเมื่อถูกปรับและกักไว้อยู่สินค้าจะต้องเกิดความเสียหายอย่างแน่นอน ดังนั้นเราก็เสนอว่าจากที่มีอยู่แล้วต้องการที่จะผลักดันต่อเนื่องอยากให้มีการกำหนดใช้ให้เร็วที่สุด ให้เกิดขึ้นโดยเร็ว เพื่อเป็นการบริหารความเสี่ยงจากต้นทางมาถึงปลายทางทำได้เร็ว ส่วนรายละเอียดอื่นๆก็เรื่องของระบบรางในเชิงพื้นที่ต้องมีการเชื่อมโยงระหว่างกันได้
รัฐบาลมุ่งมั่นพัฒนาพื้นที่บริเวณชายแดนที่เชื่อมต่อกันกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียน จัดตั้งศูนย์OSS เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ
อนึ่ง จากนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งมั่นพัฒนาพื้นที่บริเวณชายแดนที่เชื่อมต่อกันกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ส่งเสริม การค้าและการลงทุน และที่สำคัญเพื่อการเตรียมพร้อมรองรับการเปิดประชมคมอาเซียนเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community) จึงได้กำหนดให้ตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษขึ้นรวม 10 พื้นที่ได้แก่ ตาก สระแก้ว ตราด มุกดาหาร สงขลา เชียงราย หนองคาย นครพนม กาญจนบุรี นราธิวาส โดยรัฐบาลมีมาตราการสนับสนุน และส่งเสริมต่าง ๆ ทำการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การให้สิทธิประโยชน์ ทั้งที่เป็น ภาษีไม่ใช่ภาษี จึงตั้งศูนย์ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จด้านการลงทุน OSS เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ
ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (One Stop Service : OSS) และมาตราการอำนวยความสะดวกอื่น ๆ ให้บริการ มีทั้งการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจ การให้คำแนะนำเกี่ยวกับการขอใบอนุญาตต่าง ๆ รวมถึงการรับเรื่องการขอใบอนุญาตบางประเภท เช่น การขอรับการส่งเสริม การลงทุน การขอใบอนุญาตโรงงาน การขึ้นทะเบียนกองทุนประกันสังคม การอนุมัติอนุญาตในเรื่องการจะทะเบียนนิติบุลคล การขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว การขอมีเลขประจำตัวภาษีอากร การจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีธุรกิจเฉพาะ เป็นต้น
การค้าการลงทุนชายแดนภาคเหนือไทย – พม่า
การค้าชายแดนตลาดแม่สายเชียงราย – ท่าขี้เหล็ก สหภาพพม่า ตลาดแม่สาย ท่าขี้เหล็ก แม่สายเป็นอำเภอใหญ่เหนือสุดของประเทศไทยติดต่อกับเมืองท่าขี้เหล็กของพม่า มีแม่น้ำแม่สายเป็นพรมแดนธรรมชาติ เป็นจุดผ่านแดนที่นักท่องเที่ยวนิยมเดินทางมาเที่ยวซื้อหาพลอยและสินค้าราคาถูกที่หลั่งไหลมาจากประเทศจีน นอกจากนี้แม่สายยังเป็นจุดเริ่มเดินทางไปยังเมืองเชียงตุงและสิบสองปันนาของประเทศจีน
ท่าขี้เหล็ก เป็นจังหวัดชายแดนพม่า เป็นแหล่งจำหน่ายสิ้นค่านานาชนิดประเภทอัญมณี พลอยสี ทับทิม หยก เครื่องใช้ไฟฟ้าคุณภาพต่ำ ราคาถูกจากประเทศจีน อาหารทะเลแห้ง สุรา บุหรี่
การค้าชายแดนอำเภอแม่สาย เป็นการค้าขายส่งมากกว่าขายปลีกโดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภคจึงพบเห็นการเจรจาซื้อของกันน้อยกว่าตลาดชายแดนแม่สอด จังหวัดตาก ทั้งนี้ กลุ่มลูกค้าประจำกับกลุ่มพ่อค้าเดิม สำหรับการขายปลีกจะพบเห็นตามเส้นทางผ่านชายแดนเท่านั้นเพื่อขายให้นักท่องเที่ยวต่างถิ่น การค้าแถบนี้จึงเป็นตลาดแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างประชาชนที่อาศัยอยู่ตามชายแดน หรือพ่อค้ารายย่อยที่นำสินค้าจากฝั่งพม่ามาขายฝั่งไทย และนำสินค้าไทยกลับไปพม่า
หน่วยงานรับผิดชอบการค้าชายแดนของพม่า คือ กรมการค้าชายแดน(Department of Border Trade: DOBT) ซึ้งปัจจุบันได้มีการตั้งจุดบริการ One-Stop-Services ขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกต่อการค้าประเภทนำเข้าส่งออกชายแดนระหว่างประเทศ
ขอบคุณแหล่งข่าวจาก เชียงใหม่นิวส์ http://www.chiangmainews.co.th/page/business/%E0%B8%9A%E0%B8%B5%E0%B9%82%E0%B8%AD%E0%B9%84%E0%B8%AD%E0%B8%AA%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%82%E0%B8%95%E0%B8%9E%E0%B8%B1%E0%B8%92%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%A8%E0%B8%A3%E0%B8%A9/